สแตนดาร์ดฯมองศก.ไทยยังไม่สิ้นหวังคาด H2/57 ดีกว่า H1 GDP ปีนี้โต 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 21, 2014 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยมองว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึง 3.5% ซึ่งถือว่าดีกว่าหลายหน่วยงานที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับเหตุผลที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 3.5% มาจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.4% ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจะส่งผลให้ประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทยกลับมานำเข้าสินค้าจากไทยได้มากขึ้น

2.เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเห็นได้จากปัจจุบันในเดือนเม.ย.57 เงินบาทอ่อนค่าไปจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 12% ซึ่งในเดือนเม.ย.56 เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 28.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในปีนี้ให้มีโอกาสเติบโตได้ถึง 9%

3.ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราเฉลี่ยเดือนทางเข้าไทยมากกว่า 2 ล้านคน/เดือน, เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่จะกลับมาดีขึ้น หลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ)ชุดใหม่ ซึ่งรวมไปถึงการบริโภคของภาครัฐยังคงดำเนินได้ตามปกติ แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่การเบิกจ่ายยังสามารถทำได้ต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน แม้ยังไม่สามารถมี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 58 ได้ทันในเดือนต.ค.57

"เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง แม้จะยังไม่มีสัญญาณว่าการเมืองจะคลี่คลายในระยะอันใกล้ แต่เราเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน" น.ส.อุสรา กล่าว

ส่วนสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยนั้น น.ส.อุสรา คาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 2% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ประกอบกับประชาชนยังมีความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลง ดังนั้นแม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็เชื่อว่าไม่ได้ช่วยส่งผลในการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้เพิ่มขึ้นได้

"คาดว่าการประชุม กนง.ในวันพุธนี้(23 เม.ย.) ไปจนถึงที่เหลือของปี กนง.จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2%" น.ส.อุสรา ระบุ

ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีหลังนั้น นายคัลลัม เฮนเดอร์สัน หัวหน้าทีมวิจัยด้านการแลกเปลี่ยน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่า ตลาดเกิดใหม่จะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยนักลงทุนจะเริ่มกลับมาเข้าซื้อ Local Assets ในตลาดเอเชียมากขึ้น ดังนั้นค่าเงินในเอเชียจะกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ มีตัวแปรสำคัญคือขึ้นอยู่กับการเมืองในประเทศว่าจะคลี่คลายลงได้หรือไม่ เพราะหากยังมีความไม่ชัดเจนก็จะเป็นตัวกดดันให้เงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 โดยมีโอกาสอ่อนค่าไปได้ถึง 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์

"แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น กระแสเงินทุนเริ่มไหลกลับ และการเมืองมีความชัดเจน เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยช่วงไตรมาส 4 เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ระบุ

นายเดวิด มานน์ หัวหน้าทีมวิจัย ภูมิภาคเอเชีย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตที่ 3.4% ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลกไปสู่แนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 2.4% การดำเนินนโยบายการเงินกลับเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะทยอยลด QE ลงจนถึงเดือนก.ย.57 และน่าจะได้เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในมิ.ย.58

ส่วนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.3% โดยจะเปลี่ยนแปลงจากภาวะการหดตัวไปสู่การขยายตัวในปีนี้และปีต่อๆ ไป ซึ่งจะทำให้การลงุทนในยุโรปฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 7.4% ซึ่งการเติบโตในอนาคตของจีนจะเป็นการเติบโตที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งจะได้เห็นการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจมากกว่าการขับเคลื่อนที่มาจากการลงทุน และการส่งออกดังเช่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนญี่ปุ่น คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 1.4% โดยจะได้เห็นการผ่อนคลายทางการเงินและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องมากขึ้น และจะเริ่มหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

"ใน 4-5 ปีก่อน เศรษฐกิจของเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจากประเทศเหล่านี้(สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น)ผ่านทางนโยบายการเงิน แต่จากนี้ไปเศรษฐกิจในเอเชีย จะได้แรงหนุนจากการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยเฉพาะภาคการส่งออก" นายเดวิด ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ