เงินบาทเปิด 32.37/38 แนวโน้มยังอ่อนค่า จากแรงซื้อดอลล์ช่วงสิ้นเดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 25, 2014 09:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.37/38 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.33 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทวันนี้แม้จะยังมีแนวโน้มแข็งค่า แต่คาดว่าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ไม่เคลื่อนไหวมากนัก โดยเหตุที่บาทอ่อนค่าเป็นเพราะช่วงใกล้สิ้นเดือนซึ่งมักจะมีแรงซื้อดอลลาร์จากนักลงทุนเข้ามามากเป็นพิเศษ ประกอบกับในช่วงนี้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

"ค่าเงินช่วงนี้แกว่งไม่มาก บาทค่อนข้างอ่อนค่ามา 3-4 วันแล้วเป็น trend ในสัปดาห์นี้ ที่บาทอ่อนเพราะเป็นช่วงสิ้นเดือนที่มักจะมี flow ของลูกค้าเข้ามาซื้อดอลลาร์ค่อนข้างมาก" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.35-32.45 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.40 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 102.12/57 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.3832 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.3806/3849 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ 32.3370 บาท/ดอลลาร์
  • แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ซึ่งจะเป็นรอบของการปรับเป้าหมายเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังนั้น จะมีการติดตามภาคการส่งออกใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้เป้าหมายการส่งออกที่ 5% แต่จากตัวเลขการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ที่เติบโตติดลบ อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะส่งออกได้ตามเป้าหมายเดิม ซึ่งจะส่งให้เป้าหมายจีดีพีปีนี้โตน้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่วางไว้ 2.6% โดยอาจเหลือ 2.1% ซึ่งเป็นคาดการณ์ระดับล่างที่วางไว้
  • กรมสรรพากรยันยังไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ชงคลังคงไว้เท่าเดิมอีก 1 ปี คาดเข้า ครม.ในเดือนพฤษภาคมนี้ ชี้ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อห่วงเพิ่มภาระประชาชน เล็งกระตุ้นใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่ม
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า กรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% โดยระบุว่าการใช้จ่ายในประเทศ มีแนวโน้มอ่อนแอตลอดทั้งปี และมีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะล่าช้าไปจนถึงช่วงปลายปีเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองยังไร้ข้อสรุป ส่งผลให้การบริโภค และการลงทุน ไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน
  • นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ 28.01 ล้านคน โดยคาดว่าจะทำได้ดีที่สุดเท่าปี 2556 ที่ 26.7 ล้านคน ส่วนรายได้ก็คงต่ำกว่าเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาทเช่นกัน เพราะสถานการณ์การเมืองที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ท่องเที่ยวไทยครึ่งปีหลังยังน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันทุกตลาดติดลบหมด โดยคาดว่าตั้งแต่ไตรมาสแรกถึงไตรมาส 3 (มกราคม-กันยายน) นักท่องเที่ยวจะติดลบเฉลี่ยไตรมาสละ 4-5% และอาจจะกลับมาฟื้นบ้างช่วงไตรมาสสุดท้าย (ตุลาคม-ธันวาคม)
  • ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) เนื่องจากตลาดมีความวิตกกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน แม้ว่าสหรัฐเปิดเผยข้อมูลยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่แข็งแกร่ง
  • กระทรวงแรงงานของสหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 24,000 รายสู่ระดับ 329,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 19 เม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในช่วงเช้าวันนี้ โดยดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้น 0.3% แตะที่ 138.95 จุด เมื่อเวลา 10.12 น.ตามเวลาโตเกียว ขณะที่นักลงทุนจับตาดูสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน ข้อมูลเงินเฟ้อญี่ปุ่น และผลประกอบการของภาคเอกชน
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนมี.ค. นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ยูเครนที่ยังคงตึงเครียด โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 101.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ที่ตลาดลอนดอน พุ่งขึ้น 1.22 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 110.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลสเปนและอิตาลีต่างก็ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 8 ปี หลังการประมูลขายพันธบัตรช่วยให้ทั้ง 2 ประเทศบรรลุแผนในการกู้ยืมที่ระดับ 40% ของเป้าหมายในปีนี้

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเกี่ยวกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งได้กระตุ้นการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีและสเปนเป็นจำนวนมากของนักลงทุน


แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ