ผู้ว่าธปท.ชี้พื้นฐานศก.ไทยยังแกร่งแม้มีรัฐประหาร เชื่อชี้แจงตปท.ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 23, 2014 08:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้จะมีการประกาศยึดอำนาจการปกครองจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่สำหรับในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยแล้วนั้น ถือว่าพื้นฐานเศรษฐกิจยังดี มีความเข้มแข็ง เพียงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะฉะนั้นปีนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็ไม่ถึงกับกระทบต่อเสถียรภาพ
"ตัวเลขปีนี้จะค่อนข้างต่ำ แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพ เมื่อดูจากตัวเลขของเราทั้ง อัตราแลกเปลี่ยน ตัวเลขเงินเฟ้อ อันดับเครดิตและฐานะของธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องเป็นห่วงก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะสายป่านสั้น ธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบ ขยายกิจการได้น้อย และครัวเรือน ที่รายได้ต่ำ ก่อหนี้ไว้มาก ซึ่งเราก็จะต้องติดตาม ดังนั้นหากพื้นฐานของเราดี เรื่องของความเชื่อมั่นกลับมาดีขึ้น เศรษฐกิจก็จะค่อนข้างดีขึ้น" นายประสาร กล่าว

สำหรับสถานการณ์การเมืองจากนี้ ต้องติดตามเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ความสามารถของรัฐบาลใหม่ที่จะเริ่มดึงความเชื่อมั่นกลับมา และถ้าความเชื่อมั่นกลับมา เศรษฐกิจไทยก็จะกลับมาได้

ส่วนกรณีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่มักจะต่างกันนั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ที่ว่าผู้ที่มีอำนาจดำเนินการในตอนนี้ จะชี้แจงว่ามีเหตุผลอะไร สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร และมีแนวทางจากนี้แบบไหน

"จริงๆแล้ว ต้องบอกว่าท่านอดทนมาได้ตั้ง 6 เดือนแล้ว และก็ไม่อยากจะให้เป็นแบบนี้ หลังจากนี้ก็ต้องมาดูว่าประเทศจะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งก็อยู่ที่สภาพความเป็นจริง เงื่อนไขเวลา และ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทย เพียงแต่เราต้องตอบชาวโลกให้ได้ หากไปว่าทำเพราะอยากได้อำนาจแบบนี้ก็เสร็จแน่ๆ แต่ถ้าชี้แจงว่า เมื่อทุกฝ่ายตกลงกันไม่ได้ และมีความจำเป็นต้องทำ ก็ไม่มีอะไรเสีย" ผู้ว่า ธปท. กล่าว

ส่วนการแซงซั่น หรือมาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างชาติ จากการทำรัฐประหารนั้น เชื่อว่าอยู่ที่การชี้แจง และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาด้วย เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทย บางครั้งก็ต้องใช้เวลาอาจจะ 5-6 เดือน หรือ 3 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ