ครม.อัดฉีดกว่า 3 แสนลบ.ผ่าน 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกปีงบ 58

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 1, 2014 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุม้ติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 โดยเน้นการสร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาที่มีรายได้น้อย ด้วยการเร่งอัดฉีดงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท
"เชื่อว่าทุกอย่างหงอยหมด แต่เราพยายามจะเร่งข้างใน สร้างงานให้คนเรามีงานทำ โดยยังไม่ขอประเมินว่า มาตรการที่ออกมาจะกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย แต่เชื่อว่า จะเกิดการหมุนเวียน การจ้างงาน จับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็จะซ่อมไปเอง"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติมาตรการส่วนแรกเป็นมาตรการเพื่อการสร้างงาน ประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ 1.ทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 จำนวน 24,892.40 ล้านบาท โดยให้ทบทวนและเร่งรัดลงนามในสัญญาภายในเดือน ธ.ค.57 และรายงานผลใช้จ่ายงบประมาณทุกเดือน

2.เร่งรัดทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนปี 58 ที่ยังเหลืออยู่ วงเงิน 147,050.80 ล้านบาท ซึ่งทบทวนแล้วแลยืนยัน 132,160.90 ล้านบาท คงเหลือ 14,889.90 ล้านบาทที่ต้องปรับแผนใช้จ่ายให้ทันเดือน ธ.ค.57

3.เร่งรัดทำสัญญาจ้ารายจ่ายลงทุนปี 58 วงเงิน 129,522.20 ล้านบาท

4.งบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 55-57 และงบไทยเข้มแข็งปี 52 ที่เหลือ จำนวนรวม 23,000 ล้านบาทสำหรับปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และจัดหาครุภัณฑ์โรงเรียน 6,850 โรง สร้างอาคารเรียนใหม่โรงเรียนชั้นประถมและมัธยม 1,084 หลัง และห้องสุขาโรงเรียน 1,000 หลัง วงเงิน 8,844.90 ล้านบาท, ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนและสาธารณูปโภคสถานศึกษาอาชีวะ 421 แห่ง วงเงิน 2,256 ล้านบาท, ปรับปรุงอาคารและจัดหาครุภัณฑ์มหาวิทยาลัยของรัฐ วงเงิน 1,827.20 ล้านบาท,

ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทานและขุดลอกด้วยแรงงานคน วงเงิน 2,442 ล้านบาท, ปรับปรุงซ่อมแซมและก่อสร้างอาคารบ้านพักของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 736.60 ล้านบาท, ก่อสร้างอาคารบ้านพักแพทย์ พยายาม และจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ วงเงิน 2,724.70 ล้านบาท, บำรุงรักษาทางและบูรณะทางสายหลัก วงเงิน 3,898.60 ล้านบาท

และ 5.เร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน(BOI)ตามคำขอ 380 ราย วงเงินลงทุนรวมประมาณ 429,208 ล้านบาท

ด้านมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.4 ล้านครอบครัว วงเงิน 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ชาวนาที่มีที่ดิน 15 ไร่ขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิตครอบครัวละ 15,000 บาท ซึ่งมีจำนวน 1.6 ล้านครอบครัว และ ชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ จะได้รับเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิต 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งมีจำนวน 1.8 ล้านครอบครัว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มาตรการการสร้างงานจะเน้นการเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งของเก่าและใหม่ โดยสั่งการให้ทุกกระทรวงทบทวนโครงการที่พร้อมจะลงทุนและให้มีการเร่งทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ธ.ค.57 โดยหวังว่าถ้าสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจกระเด้งขึ้น จากการสั่งซื้อสินค้า การก่อสร้าง และเพิ่มการจ้างงาน

ทั้งนี้ ในส่วนของงบลงทุนไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 ให้แต่ละกระทรวงไปเซ็นสัญญาจ้างงานและให้เกิดการประมูลงานให้ถูกต้อง โดยหวังว่าหากเบิกจ่ายได้ 30-40% ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจที่ชะลอไปนานฟื้นตัวแรงขึ้นมาทันที

ส่วนงบไทยเข้มแข็งและงบกลางเหลื่อมปีจะเน้นโครงการซ่อมแซมต่างๆ การสร้างโรงเรียน บ้านพักข้าราชการ ที่พักสาธารณสุข รวมถึงการขุดลอกคูคลอง โดยเชื่อว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่การทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 48-56 ให้แต่ละกระทรวงไปคิดแผนงานว่าจะนำงบเหล่านี้ไปใช้ในด้านใดบ้าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาที่มีมีรายได้น้อยว่า ขณะนี้ราคาข้าวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรืออยู่ที่ประมาณ 8 พันบาท/เกวียน ขณะที่ต้นทุนบวกกับกำไรที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 9 พันบาท/เกวียน ทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้ชาวนาที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งน่าจะจ่ายได้ก่อน 20 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เฉพาะฤดูกาลนี้ฤดูกาลเดียว"

"ไม่ใช่ประชานิยม เพราะเราไม่ต้องการคะแนนเสียง แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาหรือมีภาระจริงๆ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ตอบคำถามผู้สื่อข่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ