ครม.เห็นชอบร่าง MOU ความร่วมมือด้านพลังงานไทย-รัสเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2014 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน

ความร่วมมือระหว่างคู่ภาคีจะดำเนินการโดยสอดคล้องกับกฎหมายของรัฐคู่ภาคี และจะครอบคลุมขอบเขตต่าง ๆ ได้แก่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก

คู่ภาคีจะดำเนินความร่วมมือในด้านการสำรวจไฮโดรคาร์บอน การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับพลังงาน การก่อสร้างและการใช้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งการเก็บ และการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ การผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ และจากความร้อนใต้พิภพ การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ความร่วมมือด้านอื่น ๆ ตามที่คู่ภาคีจะตกลงกัน

การประสานความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ คู่ภาคีจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของคู่ภาคี และของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานจะกำหนดโครงการต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงานร่วมกัน จัดทำโครงการความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระยะยาวที่ครอบคลุม ตามทิศทางของกิจกรรม และกำหนดมาตรการสำหรับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จำเป็นเพื่อให้โครงการสามารถประสบความสำเร็จได้ วาระ เวลา และสถานที่ สำหรับการประชุมคณะทำงานจะจัดขึ้นตามที่คู่ภาคีจะตกลงกัน การประชุมของคณะทำงานจะจัดขึ้นที่สหพันธรัฐรัสเซียและประเทศไทยสลับกัน โดยคาดว่าจะจัดการประชุมปีละครั้ง โดยบันทึกความเข้าใจนี้จะมีผลนับแต่วันลงนามและมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาเดียวกัน เว้นแต่ว่าภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งให้ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงความตั้งใจที่จะไม่ขอต่ออายุบันทึกความเข้าใจนี้ ซึ่งการสิ้นสุดการใช้บันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลต่อกิจกรรมและโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ตามบันทึกความเข้าใจนี้ จนกว่ากิจกรรมและโครงการนั้น ๆ จะเสร็จสิ้น หรือแล้วแต่ที่คู่ภาคีจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการวางกรอบความร่วมมือด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยวางกรอบกว้าง ๆ ในการดำเนินงาน และไม่มีข้อผูกมัด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมาย และจะไม่มีผลเป็นการผูกพันโดยเจาะจงแก่ประเทศไทยในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือการค้าการลงทุนอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ