ธปท.ระบุปล่อยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดสอดคล้องภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 16, 2014 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ว่า ยังเป็นการอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเงินบาทมีความผันผวนอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติแต่อย่างใด โดยธปท.ยังคงติดตามใกล้ชิด และคงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อเข้ามาดูแลกรณีบาทอ่อนค่า

ขณะเดียวกัน เงินทุนไหลออกในช่วงนี้ก็ไม่มีสัญญาณใดที่ผิดปกติ ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอาจมีการลดลงบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีค่าของสกุลเงิน ส่วนดุลชำระเงินก็ยังเป็นปกติ

ส่วนกรณีที่ช่วงบ่ายวานนี้(15 ธ.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปกว่า 130 จุดนั้น นายประสาร กล่าวว่า ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้รายงานให้ ธปท.ทราบถึงสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นร่วงแรงแล้ว โดยชี้แจงว่าในช่วงเช้าปัจจัยมาจากนักลงทุนมีความกังวลต่อราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง เพราะส่งผลให้บริษัทที่มีรายได้จากธุรกิจพลังงานมีรายได้ลดลงด้วย ขณะที่ในช่วงบ่ายมีกระแสข่าวลือออกมา แต่โดยภาพรวมหลังปิดตลาดดัชนีหุ้นไทยก็เป็นปกติ ซึ่งเรื่องนี้ ตลท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

"มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับตลาดต่างๆ ทั่วภูมิภาค หลังจากระยะที่ผ่านมาตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลาดหลักของไทยต้นปี โต 20% หลังจากหุ้นตกเมื่อวานก็ยังโต 9% ถือเป็นปกติที่ปลายปีจะมีการซื้อขายเบาบาง ถ้าขยับกันทีก็มีผลกระทบแล้ว" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวถึงกรณีที่รัสเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 10.5% เป็น 17% เพื่อสกัดภาวะเงินรูเบิลอ่อนค่าว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นนโยบายในการดูแลตลาดการเงินของรัสเซีย โดยมองว่าตลาดเงินของรัสเซียไม่ได้เชื่อมโยงกับตลาดเงินของต่างประเทศมากนัก อีกทั้งเงินรูเบิลก็ไม่ได้เป็นที่นิยมของตลาดการเงินโลก ดังนั้นผลกระทบในระยะสั้นต่อไทยจึงไม่มี รวมทั้งไม่มีผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทย แต่อาจจะส่งผลกระทบในทางอ้อมต่อการท่องเที่ยวของไทยอยู่บ้างจากการที่เงินรูเบิลอ่อนค่า

อย่างไรก็ดี คงไม่สามารถมองข้ามเศรษฐกิจของรัสเซียได้ เพราะจะมีผลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภูมิศาสตร์ทางการเมือง แต่ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มากเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่มีการเติบโตไม่เท่ากัน และมีการใช้นโยบายทางการเงินที่แตกต่างกันไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ