โพลเผยดัชนีเชื่อมั่นศก.อีสาน Q1/58 วูบ หลังสินค้าเกษตรราคาตก-หนี้พุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2015 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 1/2558" พบว่า คนอีสานประเมินความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางแย่ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 1/2558 อยู่ที่ 107.1 ลดลงจากไตรมาสที่แล้วค่อนข้างมาก โดยเป็นการลดลงของทั้งกลุ่มคนเมืองและกลุ่มคนชนบท และลดลงทุกกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากราคาพืชเกษตรตกต่ำ การซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ระดับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น จนบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนในอีสาน

โดยเศรษฐกิจในเขตชนบทมีความเชื่อมั่น 110.6 ส่วนเขตเมืองมีความเชื่อมั่นเพียง 102.2 และพบว่ากลุ่มจังหวัด จังหวัด อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี มีความเชื่อมั่นสูงที่สุดที่ 114.2 ขณะที่กลุ่มจังหวัด จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และเลย(กลุ่มสบายดี) ซึ่งปลูกยางพารามาก ความเชื่อมั่นต่ำสุดเหลือเพียง 92.2 แผ่วลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาส จากราคายางพาราที่ตกต่ำ

เมื่อสอบถามความเห็นว่าปัจจุบัน รายได้และสภาพคล่องการเงินของครอบครัวท่าน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินของท่านอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 62.3 รายได้ เห็นว่ารายได้และสภาพคล่องการเงินของครอบครัวส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 28.1 เห็นว่าอยู่ในระดับที่แย่ ร้อยละ 6.9 เห็นว่าอยู่ในระดับดี มีเพียงร้อยละ 2.7 ที่เห็นว่าอยู่ในระดับแย่มาก ทั้งนี้ไม่มีใครตอบว่าอยู่ในระดับดีมากเลย

เมื่อสอบถามความเห็นของชาวอีสานในอีกประมาณ 2- 3 เดือนข้างหน้า ต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 65.5 เห็นว่าเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดจะยังคงทรงตัว รองลงมาร้อยละ 23.3 เห็นว่าเศรษฐกิจและการค้าจะดีขึ้น และอีกร้อยละ 11.2 ที่เห็นว่าจะแย่ลง

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า รายได้ต่อเดือนจากแหล่งต่างๆ ของครอบครัวท่านจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 73.0 เห็นว่ารายได้ของครอบครัวจะยังเท่าๆ เดิม รองลงมาร้อยละ 15.8 เห็นว่าจะเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 11.3 ที่เห็นว่ารายได้ต่อเดือนจากแหล่งต่าง ๆ ของครอบครัวจะลดลง

ในส่วนประเด็นของการหมุนเงิน/สภาพคล่องการเงินของครอบครัวในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 70.4 เห็นว่าการหมุนเงิน/สภาพคล่องการเงินของครอบครัวจะยังเท่าๆ เดิม รองลงมาร้อยละ 17.2 เห็นว่าจะดีขึ้น และอีกร้อยละ 12.4 เห็นว่าจะแย่ลง

เมื่อนำข้อมูลมาคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 1/2558 พบว่าอยู่ที่ระดับ 107.1 ซึ่งแผ่วลงจาก 120.4 เมื่อเทียบกับผลสำรวจในไตรมาสที่ 4/2557 ค่อนข้างมาก ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามเขตที่อยู่อาศัยระหว่างเขตเมือง และเขตชนบท จะเห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงจากไตรมาสที่ 4/2557 ในการสำรวจครั้งที่แล้วพอสมควร โดยเขตเมืองมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 102.2 ซึ่งลดลงจาก 117.4 ส่วนเขตชนบทมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 110.6 ซึ่งลดลงจาก 123.5

เมื่อจำแนกตามการบริหารงานแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด พบว่า กลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลางเขต 12 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ และยโสธร มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าสูงสุด โดยอยู่ที่ระดับ 114.2 ซึ่งลดลงจาก 123.5 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน รองลงมา คือ กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนเขต 11 ได้แก่จังหวัด สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร(หรือกลุ่มจังหวัดสนุก) มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 109.7 ซึ่งลดลงจาก 122.0 ในไตรมาสที่แล้ว

ตามมาด้วย กลุ่มจังหวัด อีสานตอนกลางเขต 12 ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ (หรือกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์) มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 109.4 ซึ่งลดลงจาก 128.9 ในไตรมาสที่แล้ว กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างเขต 14 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 109.0 ลดลงเล็กน้อยจาก 116.6 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน ส่วนกลุ่มจังหวัดกลุ่มอีสานตอนบนเขต 10 ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และเลย (หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี) พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุดลดต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยอยู่ที่ระดับ 92.2 ลดลงค่อนข้างมากจาก 115.5 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสานซึ่งต้องเผชิญกับราคายางที่ตกต่ำ

โดยสรุปเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 1/2558 ยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำของพืชเศรษฐกิจหลัก ปัญหาซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในหัวเมืองจังหวัดใหญ่ และปัญหาระดับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งภาคอีสานมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนสูงที่สุด จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนมากนัก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจต้องใช้เวลาซักพักเพื่อให้ภาคธุรกิจปรับลดราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตที่ลดลง ดังนั้นภาครัฐควรต้องเร่งให้ภาคธุรกิจปรับลดราคาสินค้าตามต้นทุนน้ำมันที่ลดลงและการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังไม่เป็นไปตามเป้า

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชน 1,073 ราย ในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 16-19 มกราคม 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ