พลังงานคาดจัดหาไฟฟ้าราว 3.8 หมื่น MW ตามแผน PDP 2015 จากเอกชน-กฟผ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2015 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)เปิดเผยกระทรวงพลังงานเตรียมจัดหาไฟฟ้าเพิ่มอีกประมาณ 3.8 หมื่นเมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่(PDP2015)ในระหว่างปี 2558-2579 โดยแบ่งเป็นไฟฟ้าที่สร้างใหม่เพิ่มจำนวนประมาณ 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ และจำนวนไฟฟ้าที่สร้างทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมอีกจำนวน 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้จัดหาในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าภาคเอกชน

ขณะที่การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันอย่างมาก จนปรับลงมาต่ำสุดที่ราคา 40 เหรียญ/บาร์เรล อาจจะทำให้ไม่ปรับลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมากนักเพราะราคาก๊าซถูกลง โดยปัจจุบันมีการใช้ก๊าซมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 65-70%

ทั้งนี้ การจัดทำแผน PDP 2015 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือน ม.ค.นี้ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.58 จากนั้นก็จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ประมาณปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค.58 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้แผนได้ในปลายเดือน มี.ค.หรือต้นเดือน เม.ย.

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แผน PDP 2015 หรือแผน 21 ปี(ปี 2558-2579)ประเมินว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 79 อยู่ที่ 5 หมื่นเมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตติดตั้ง 5.75 หมื่นเมกะวัตต์ จากปี 57 มีความต้องการใช้ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้ง 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมีปริมาณสำรองประมาณ 20% เกินกว่าปกติ 15%

แผน PDP 2015 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 11 ปีแรกของแผน มีกรอบประมาณการสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติลดลงเหลือ 45-50%, ถ่านหินสะอาดเพิ่มมาที่ 20-25%, เพิ่มการซื้อไฟจากต่างประเทศ สัดส่วน 15-20%(จากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา) และพลังงานทดแทน 10-15%

ช่วง 10 ปีหลังสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลงมาเล็กน้อยที่ 40-45%, ถ่านหินสะอาดเท่าเดิม 20-25%, ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ สัดส่วน 15-20%, พลังงานทดแทน 15-20% และพลังงานนิวเคลียร์ สัดส่วน 5% ซึ่งจะอยู่ท้ายแผน(ปี76-79)ประมาณ 2 พันเมกะวัตต์

ปัจจุบัน การใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หลักๆมาจากก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 65-70% ถ่านหิน รวมถ่านหินลิกไนต์ สัดส่วน 20% พลังงานทดแทน 2% ซื้อไฟจากต่างประเทศรวมพลังงานน้ำ 7% และน้ำมันเตาและดีเซล 1%

“ความต้องการไฟฟ้าในช่วง 21 ปีเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากแผน PDP เดิมช่วงปลายแผนปี 79 จะมีความต้องการใช้ประมาณ 6 หมื่นเมกะวัตต์ ก็ลดลงประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ เพราะปรับตัวเลขจีดีพีจากเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.5% ในปี 58-79 ปรับลดตัวเลขจีดีพีมาที่ 3.9% ต่อปี ก็ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลง และแผนอนุรักษ์พลังงานมีศักยภาพมากขึ้น"นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า จากการหารือถึงการจัดทำแผน PDP 2015 ล่าสุดพบว่าขณะนี้ราคาก๊าซ และน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากที่วางแผนไว้จะปรับลดสัดส่วนเชื้อเพลิงจากก๊าซ จาก 65% เหลือ 45-50% ก็อาจจะปรับเพิ่มสัดส่วนได้ หากราคาก๊าซปรับลดลง

ดังนั้น แผนนี้จะยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้ไม่เป็นภาระกับผู้ใช้ไฟ การกระจายแหล่งเชื้อเพลิงไปใช้แหล่งที่มีราคาถูก อย่างไรก็ดี ปริมาณสำรองก๊าซของไทยเหลืออยู่ประมาณ 7 ปี ก็ต้องหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่นมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดต้องจัดหาพลังงานให้ใช้ได้เพียงพอ มีไฟฟ้าใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามการจะไปพึ่งแหล่งพลังงานจากต่างประเทศมากก็จะมีปัญหา จึงต้องมีการเพิ่มสัดส่วนจากพลังงานทดแทนมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตในปัจจุบันปรับลดลงมาก โดยจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตของพลังงานทดแทนมาที่ระดับ 20% ขณะเดียวกัน พลังงานไฟฟ้าจากที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิส ได้แก่ ก๊าซ ถ่านหิน น้ำมัน ก็ยังคงต้องต้องมีอยู่เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถทำให้โรงไฟ้าเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ตอนนี้ต้นทุนจากเชื้อเพลิงฟอสซิสเริ่มจะถูก ก็มีผลต่อการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงเยอะมากในแผน PDP พอน้ำมันถูก LNG ก็ถูก ถ่านหินก็ถูก คือถูกหมดเลย เพราะอิงอยู่กับราคาน้ำมัน ตอนนี้ที่คุยกันอยู่ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 40 เหรียญ/บาร์เรล ก็คิดว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว"นายชวลิต กล่าว

ตามแผน PDP2015 ได้กำหนดเบื้องต้นการจัดหาไฟฟ้าจะมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครึ่งหนึ่ง และ จากโรงไฟฟ้าภาคเอกชน อีกครึ่งหนึ่ง โดยอาจจะมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) แต่ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดชัดเจน เพราะแผนอาจจะปรับปรุงได้ตลอดหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องคำนึงถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ 15% ของกำลังการผลิตรวม

“โรงไฟฟ้าภาคเอกชนเราดูถึงความต้องการและจะเปิดประมูลเป็นรอบ ตามความต้องการที่เกิดขึ้นหากดูแล้วปริมาณสำรองยังเหลืออยู่มากก็จะยังไม่เปิด เราคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 15% ถึงจะเปิด ซึ่งต้องดูก่อนหน้า 5 ปี “

สำหรับ โรงไฟฟ้า IPP ที่บริษัทกัลฟ์ เอส อาร์ ซี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มกัลฟ์เป็นผู้ดำเนินการ 4 โรง รวม 5 พันเมกะวัตต์ ได้ทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจ่ายไฟ(COD)ในปี 62-65 นั้น ขณะนี้ยังต้องรอผลการประชุมจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)และคณะกรรมการชุดที่ปลัดกระทรวงพลังงานแต่งตั้งโดยมี นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน

หากผลออกมา กลุ่มกัลฟ์ทำได้หมดทั้ง 4 โรงจะจ่ายไฟในปี 62-65 ก็จะทำให้สำรองการผลิตติดตั้งเกินกว่าปกติที่ 15% แต่ถ้ากลุ่มกัลฟ์ได้เข้าครึ่งหนึ่งก็ต้องมาดูว่าจะจ่ายไฟเข้ามาปีไหน และหากกลุ่มกัลฟ์ไม่ได้ดำเนินการเลย ก็ต้องเปิดการจัดหาใหม่

ส่วนกรณีสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เสนอต่ออายุโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่จะเริ่มทยอยหมดอายุลงในช่วงปี 60-67 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป โดย สนพ.สั่งให้ทางกลุ่มผู้ประกอบการไปทำข้อมูล อาทิ การต่ออายุโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 60-65 และกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิม จากนั้นจะเสนอข้อสรุปไปยังปลัดกระทรวงพลังงาน และ รมว.พลังงาน พิจารณาต่อไป และอาจจะต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนเดือน มิ.ย.นี้

"โรงไฟฟ้าเก่ามีโอกาสได้เปรียบ แต่จะต่ออายุให้โรงไฟฟ้าเดิมก็ไม่ถูก เราก็มองในจุดให้เกิดความเป็นธรรมทุกโรงไฟฟ้าที่ต้องการผลิต และไม่กีดดันรายใหม่เข้ามา เรายังไม่สรุปว่าจะใช้โรงเดิม"นายชวลิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ