เงินบาทปิด 32.32/33 กลับมาแข็งค่าตามภูมิภาค ตลาดรอปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2015 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 32.32/33 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 32.36/38 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค รอปัจจัยใหม่เข้ามา
"หลังเปิดตลาดอ่อนค่าไปยืนอยู่เหนือ 32.40 บาท/ดอลลาร์ แล้วทยอยแข็งค่าต่อเนื่อง" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 32.30-32.40 บาท/ดอลลาร์เช่นเดิม

"พรุ่งนี้น่าจะยังแกว่งตัวในกรอบเดิม" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 119.87 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 119.82 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1216 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1175 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,582.14 จุด ลดลง 4.87 จุด, -0.31% มูลค่าการซื้อขาย 61,003.09 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 32.54 ล้านบาท(SET+MAI)
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือนก.พ.58 ดัชนีอยู่ที่ 106.15 ลดลง 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.57 (YoY) จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 0.41% (YoY) ขณะที่ CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. -ก.พ.) ลดลง 0.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมความต้องการสินเชื่อทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนสินเชื่อน่าจะยังคงมีแรงส่งที่อ่อนกำลังลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในไตรมาส 1/2558 จะมีการขยายตัวที่ 3.5-4.0%YoY ซึ่งชะลอลงจาก 4.5%YoY ในไตรมาส 4/2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2558 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ประมาณ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, SA) อันเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงกว่าในไตรมาส 4/2557 ที่ 1.7% (QoQ, SA)
  • นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็นระดับ 1% ของจีดีพีในประเทศปี 59 หรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยเน้นสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนต่อภาครัฐ 70:30 จากในปีที่ผ่านมามีการลงทุน 5.7 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.47% ของจีดีพี
  • หนังสือพิมพ์ไชน่า ซิเคียวริตีส์ เจอร์นัล เปิดเผยรายงานของศูนย์สารสนเทศแห่งรัฐของจีน (SIC) ที่คาดว่าการปรับตัวของเศรษฐกิจมหภาคของจีนจะมีเสถียรภาพ ด้วยการส่งเสริมการปฏิรูปและสนับสนุนนโยบายควบคุมระดับมหภาค โดยคาดว่าการเติบโตของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ จะอยู่ที่ราว 7% เมื่อเทียบรายปี
  • สมาคมดีลเลอร์รถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ของญี่ปุ่นเดือนก.พ. ร่วงลง 14.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะที่ 482,103 คัน เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อปีที่แล้ว ยังคงส่งผลให้อุปสงค์ลดลง
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของฝรั่งเศสในเดือน ก.พ.ทรงตัวที่ 51.0 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. แต่ลดลงเล็กน้อยจากรายงานเบื้องต้นที่ 51.1 เนื่องจากอัตราการขยายตัวของภาคการผลิตยูโรโซนยังคงซบเซาในเดือน ก.พ. โดยการเติบโตของผลผลิตอยู่ที่อัตราเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่กระเตื้องขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ส่วนธุรกิจใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่ภาวะตลาดในภูมิภาคที่ซบเซาได้ชดเชยการขยายตัวเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกล็อตใหม่
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของฝรั่งเศสในเดือน ก.พ.ปรับตัวลงแตะ 47.6 จาก 49.2 ในเดือน ม.ค. ซึ่งบรรดาผู้ผลิตของฝรั่งเศสได้รายงานถึงภาวะการดำเนินงานที่ย่ำแย่ลงในเดือน ก.พ. โดยดัชนีผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ต่างปรับตัวลงรุนแรงขึ้น
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของอิตาลีในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นแตะ 51.9 จาก 49.9 ในเดือน ม.ค. โดยผลผลิตของภาคการผลิตอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือน ก.พ. พุ่งขึ้นมากที่สุดนับแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่การขยายตัวอย่างสดใสของคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้การผลิตปรับตัวขึ้น ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของเยอรมนีในเดือน ก.พ.ขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 51.1 จาก 50.9 ในเดือน ม.ค. ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการดำเนินงานของภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนถึงธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่การจ้างงานยังคงมีการขยายตัวเล็กน้อย แม้ว่าผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซีย เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ปรับตัวลดลงแตะระดับ 6.3% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากตัวเลข 6.95% ในเดือน ม.ค. เนื่องจากราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลง 0.36% ซึ่งขยับลงต่อเนื่องจากตัวเลขเดือน ม.ค.ที่ลดลง 0.24% เป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและพริก ซึ่งลดลงโดยเฉลี่ย 7% และ 39.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบรายเดือน

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ