โพลล์ระบุส่วนใหญ่เห็นด้วยใช้ม. 44 แก้ปัญหาประมงผิดกม. หวังช่วยปลดล็อคเร็วขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2015 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ใบเหลืองอียูกับความเชื่อมั่นของแกนนำชุมนุม 2558 ผลการสำรวจพบว่า ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 54.0 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 35.0 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 7.9 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 3.0 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.1 ระบุไม่ได้ติดตามเลย

ทั้งนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการรับรู้รับทราบข่าวกรณีสหภาพยุโรปหรืออียูประกาศให้ใบเหลืองกับสินค้าประมงของประเทศไทยนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 77.6 ระบุรับทราบข่าวดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ระบุไม่ทราบข่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยูนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนมากกครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 60.4 เห็นว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังมาก-มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุค่อนข้างจริงจัง ร้อยละ 5.4 ระบุไม่ค่อยจริงจัง และร้อยละ 4.1 ระบุน้อย-ไม่เอาจริงเอาจังเลย

สำหรับความคิดเห็นกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อให้อำนาจทหารในการเข้ามาช่วยให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 71.8 ระบุเห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ถ้ามีทหารเข้ามาการประสานงานทุกฝ่ายจะเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น/ทหารเป็นตัวประสานที่ดี/ทหารทำงานเป็นขั้นตอนมีระเบียบชัดเจน/มาตรา 44 ช่วยปลดล็อคข้อติดขัดบางอย่างทำให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น/มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรา 44ควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายได้/ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ ทหารอาจจะไม่มีประสบการณ์ในลักษณะนี้/ตัวกฎหมายดูรุนแรงมากเกินไป/เป็นการให้อำนาจทหารมากเกินไป/ไม่อยากให้ทหารเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป และผลสำรวจพบว่าแกนนำชุมชน ร้อยละ 21.7 ไม่ระบุความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

สำหรับความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย 4 ข้อของอียูนั้นพบว่าแกนนำชุมชน โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขของอียูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากฎหมายการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ที่แกนนำชุมชนร้อยละ 89.3 เชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ รองลงมาคือ การมีแผนปฏิบัติการระดับชาติ หรือ National Plan of Actions ที่ให้น้ำหนักกับการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 86.0 ระบุเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ สำหรับการจัดระบบเฝ้าติดตามเรือประมงขณะออกจับสัตว์น้ำหรือ VMS นั้น พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 83.0 ระบุเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ ในขณะที่การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตั้งแต่ผู้บริโภคปลายทางจนถึงต้นทางของการจับสัตว์น้ำนั้น พบว่า แกนนำร้อยละ 80.5 ระบุเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถทำได้ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถปลดใบเหลืองจากอียู ได้ภายในเวลา 6 เดือนตามที่กำหนดหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 44.0 ระบุเชื่อมั่น เพราะ รัฐบาลทำงานอย่างเอาจริงเอาจังถ้ามีทหารเข้ามาช่วยน่าจะทำได้ตามกำหนดเวลา/ทหารทำงานเร็วเป็นระเบียบ/รัฐบาลมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน/เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ระบุไม่เชื่อมั่น เพราะปัญหาสะสมมานานไม่น่าจะแก้ได้ในเวลาแค่ 6 เดือน /ให้เวลาน้อยเกินไป/ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรบ้าง/อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ/มีปัญหาที่ต้องสะสางหลายอย่าง ที่น่าสนใจคือ แกนนำชุมชนร้อยละ 41.7 ระบุไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสามารถปลดใบเหลืองได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนว่า ยังคงไว้ใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการใช้กฎหมายมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 90.1 ระบุยังคงไว้ใจ โดยให้เหตุผลว่า เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้อง/นายกฯเป็นคนตั้งใจทำงาน/เชื่อมั่นในการทำงาน/ทหารเป็นคนเด็ดขาด พูดจริงทำจริง/นายกฯเป็นคนดีมีคุณธรรม/นายกฯ ทำงานโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา/มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ 9.9 ระบุไม่ไว้ใจแล้ว เพราะ กฎหมายมาตรา 44 ดูมีความรุนแรง/คิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย/ให้อำนาจทหารมากเกินไป/ยังไม่เข้าใจรายละเอียดของมาตรา 44/คิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด

มาสเตอร์โพลล์ ทำการสำรวจจากกรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 1,080 ตัวอย่าง จาก 19 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุทัยธานี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี สระแก้ว จันทบุรี พังงา ตรัง และ สงขลา ดำเนินโครงการในวันที่ 24-26 เมษายน 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ