CIMBT วอนธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัด หลังลดเร็วกว่าคาด ห่วงเกิดภาวะฟองสบู่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในการประชุมวันที่ 29 เม.ย. 58 สร้างความแปลกใจให้ตลาด เนื่องจากปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

เดิมทีสำนักวิจัยฯคาดว่าหลังจากกนง.ปรับลดดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.58 จะได้เห็นกนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมรอบหน้าวันที่ 10 มิ.ย.58 เพื่อรอดูการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ในวันที่ 18 พ.ค.58 เสียก่อน โดยสำนักวิจัยฯคาดว่าจีดีพีไตรมาส 1 น่าจะโตได้ 3.3% YoY แต่เป็นตัวเลขที่ไม่น่ายินดี เพราะหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เป็นตัวเลขติดลบ

ดังนั้น สำนักวิจัยฯประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่ใช่ U shape ไม่ใช่ V shape และไม่ใช่ L shape แต่อาจเป็น W shape ซึ่ง จีดีพีรูป W shape เป็นการตกต่ำแบบ 2 ครั้งติดๆกัน (double dips) หรือภาวะ technical recession โดยครั้งนี้เกิดจากปัญหารายได้ภาคเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง และความเชื่อมั่นทั้งการลงทุนและการบริโภคไม่ได้เร่งตัวขึ้น ทำให้การใช้จ่ายหยุดชะงัก ภาคเอกชนรอการลงทุนภาครัฐ แรงส่งต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั้งไตรมาส 1 ลากยาวไปถึง ไตรมาส 2 อาจยังไม่มา

อย่างไรก็ดี การที่กนง.ประกาศปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ลงไปเหลือ 1.50% เมื่อวันที่ 29 เม.ย.58 น่าจะเป็นเพราะผู้ทรงคุณวุฒิของธปท.ทั้งคนนอกและคนในเห็นตรงกันว่าไม่สามารถรอได้ เพราะการส่งผ่านนโยบายต้องใช้เวลา ถ้ารอตัวเลขจีดีพีประกาศออกมาก่อนอาจไม่ทันการณ์ จึงต้องลดดอกเบี้ยในรอบนี้

นายอมรเทพ กล่าวว่า สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้คงช่วยผู้ประกอบการในประเทศให้ลงทุนไม่ได้มาก ช่วยได้บ้างแต่จำกัด เพราะปัจจัยหลักๆของผู้ประกอบการคือ รอการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศนั้นต่ำอยู่แล้ว แทบจะต่ำสุดในภูมิภาค ส่วนธนาคารพาณิชย์เองก็ระวังในการปล่อยสินเชื่อเพราะห่วงหนี้เสีย

ส่วนการช่วยผู้ส่งออกผ่านค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แม้ลดดอกเบี้ยทำให้บาทอ่อน แต่จะอ่อนได้นานเพียงใด เพราะจากการปรับลดดอกเบี้ยรอบที่แล้วเมื่อ 11 มี.ค.58 เราพบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วงวันที่ 11-19 มี.ค.แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอีกครั้งและทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกระลอก กล่าวคือ นโยบายการเงินสหรัฐมีผลต่อค่าเงินบาทมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายการเงินในประเทศ จึงต้องจับตาสัญญาณจากสหรัฐ หากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งและอาจไม่ทะลุแนวต้านที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ดั่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการลดดอกเบี้ยในรอบนี้ นายอมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือผลข้างเคียงจากการปรับลดดอกเบี้ย ได้แก่ ภาวะฟองสบู่และหนี้ครัวเรือน โดยภาวะฟองสบู่ อาจเกิดจากเมื่อดอกเบี้ยปรับลง ทำให้แรงจูงใจในการออมลดลงไปด้วย คนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น คือ อสังหาริมทรัพย์ จึงต้องระวังและพยายามสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจก่อนเกิดปัญหาจนลามเป็นภาวะฟองสบู่ หนี้ครัวเรือน แม้การลดดอกเบี้ยอาจจูงใจให้คนใช้จ่ายหรือลงทุน แต่ไม่น่าจะส่งผลแรงมากนัก เพราะรายได้คนไม่ขยับ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยังไม่เร่งตัว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ระวังในการปล่อยกู้ การใช้จ่ายและลงทุนคงไม่เร่งตัวมาก แต่ที่น่าห่วงคือ กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง เป็นหนี้มากขึ้นจนทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง และผู้มีรายได้ระดับบนหากก่อหนี้จนเกิดฟองสบู่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่สมดุลและเกิดเป็นปัญหาระยะยาว สัญญาณจากธปท. หลังการลดดอกเบี้ยรอบนี้อยากให้ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัดอีกครั้ง เพราะกังวลว่านักลงทุนจะเข้าใจว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอต้นทุนการเงินปรับลดลงไปอีก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา กนง.จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดกันหากไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้เกิดประโยชน์เต็มที่จึงอยากให้ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัด

“ธปท.รับบทบาทหนักมากในขณะนี้ทั้งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพ หากธปท.จำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อดูแลค่าเงินอยากให้ธปท.อธิบายเหตุผลอย่างละเอียดและชัดเจนแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ ส่วนตัวมองว่าบาทแข็งไม่ได้เกิดจากเงินทุนไหลเข้า ตลาดหุ้นที่ต่างชาติซื้อสุทธิก็เป็นการเปลี่ยนจากขายสุทธิเป็นซื้อสุทธิเมื่อไม่นานมานี้ ตลาดพันธบัตรปีนี้เม็ดเงินใหม่ไม่ได้เข้ามามาก บาทแข็งเพราะเรานำเงินไปจ่ายต่างประเทศน้อย เหตุผลใหญ่คือ การนำเข้าลดลง ราคาน้ำมันลดลง ที่อยากเห็นคือ รัฐส่งเสริมให้คนลงทุนต่างประเทศ นำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต" นายอมรเทพ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ