พลังงาน คาดมีสายส่งรองรับผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่แค่ 3 พันMW ปี 58-60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตรบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่าศักยภาพของสายส่งไฟฟ้าที่จะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ในช่วงปี 58-60 จะมีเพียง 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่นับรวมโครงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ค้างท่อที่เคลียร์สายส่งเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ศักยภาพของสายส่งที่รองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่นั้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงทางภาคตะวันตกของประเทศ ขณะที่สายส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีเพียงพอที่จะรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว
"การเปิด FiT-Biding ยังไม่ได้พูดถึงจำนวนเมกะวัตต์ ตามที่เรารายงานต่อ กพช.ความสามารถของสายส่งที่จะรองรับพลังงานทดแทนในปี 58-60 มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พื้นที่ต่างจังหวัดจำกัดมาก โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งต้องมาดูข้อมูลรายละเอียดอีกมาก"นายทวารัฐ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff Biding (FiT- Biding) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนก.ค.58 โดยการพิจารณาเปิดประมูลตามโครงการดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากศักยภาพของสายส่งที่จะรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาด้วย ซึงนอกจากโครงการ FiT- Biding แล้ว ยังรวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร(โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) ที่รัฐบาลจะเปิดรับจำนวน 800 เมกะวัตต์ด้วย

นายทวารัฐ กล่าวว่า ศักยภาพของสายส่งที่จะรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงปี 58-60 มีมากถึง 1,700 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นการกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกยังมีศักยภาพอยู่ค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคเดียวที่ไม่มีสายส่งขนาด 500 KV รองรับเลย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างสายส่งเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 61 ถึงปี 62 ซึ่งจะสามารถรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้อย่างน้อย 2,000 เมกะวัตต์

สำหรับศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น เห็นว่ามีศักยภาพในส่วนของโรงไฟฟ้าจากขยะเป็นเชื้อเพลิงมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จ.สมุทรปราการ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งจะมีแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)รวมถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEDP) ควบคู่กันไปด้วย โดยตลอดแผน AEDP จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวมประมาณ 550 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ จะไม่มีการประมูลในส่วนของราคา แต่จะมีการประมูลในส่วนของกระบวนการดำเนินงาน

ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการจะเป็นการทยอยรับซื้อ หรือรับซื้อพร้อมกันทั้งจำนวน 800 เมกะวัตต์นั้น ยังต้องพิจารณาหลายเรื่อง เพราะรัฐบาลต้องการให้เป็นโครงการระดับชมุชน และกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะที่ปัจจุบันสายส่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่สามารถรองรับโครงการใหม่ได้ ก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการได้อย่างใดบ้าง

นายทวารัฐ กล่าวด้วยว่า การจัดทำโซนนิ่งของพลังงานทดแทนนั้น ปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่ใดควรจะต้องใช้พลังงานประเภทใดมากที่สุด แต่ในส่วนของโซนนิ่งสายส่งนั้นยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะต้องดูความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆประกอบกันด้วย

"โซนนิ่งสายส่งและพลังงานทดแทน เป็นเรื่องของ FiT Biding เราพยายามจะให้เสร็จในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะมีการเปิด biding"นายทวารัฐ กล่าว

ทั้งนี้ ตามแผน AEDP ได้กำหนดสัดส่วน 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดหรือมีกำลังผลิตรวม 19,685 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตแล้วกว่า 2,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ, ก๊าซชีวภาพ, พลังงานน้ำ, พลังงานลม, แสงอาทิตย์ และพืชพลังงาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ