ธ.ก.ส.ปล่อยกู้กองทุนอ้อยฯ กว่า 1.6 หมื่นลบ.ช่วยชาวไร่ คาดเริ่มจ่าย 21 ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2015 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนจากการขายอ้อยฤดูการผลิตปี 2557/2558 ให้ได้ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตมากที่สุดโดยมอบหมายให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 16,953.44 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย 150,000 ราย ในอัตราตันละ 160 บาทสำหรับผลการผลิตรวม 105.95 ล้านตันนั้น จากพื้นที่ปลูก 10.53 ล้านไร่ และเพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างเร็วและโปร่งใสถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ จึงตั้งคณะทำงานตรวจสอบกำกับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อย ฤดูการผลิตปี 2557/2558 มาตรวจสอบอีกขึ้นหนึ่ง

ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สาเหตุที่เราเลือกกู้ ธ.ก.ส.เนื่องจากธ.ก.ส.ให้ข้อเสนอที่ดี โดยคิดดอกเบี้ยผ่อนปรนร้อยละ 4.25 ต่อปี ซึ่งการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ คณะกรรมการของธ.ก.ส. จะประชุมพิจารณาคำขอสินเชื่อของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2558 และธ.ก.ส.จะจัดพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 สำหรับการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกร คาดว่า ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินสำหรับเกษตรกรรายที่ส่งเอกสารครบถ้วนถูกต้องและได้รับการตรวจสอบแล้วภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นี้ โดยงวดแรกจะจ่ายได้ร้อยละ 80 ของรายชื่อในวันแรก

"วันที่ 16 ก.ค.จะเซ็นสัญญากู้กับธ.ก.ส.แล้ว ธ.ก.ส.ก็จะเริ่มจ่ายเงิน คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ 90% ภายใน 1 เดือน ส่วนอีก 10% คือส่วนของเกษตรกรที่อาจจะมีปัญหาเรื่องเอกสาร ซึ่งต้องรอตรวจสอบความถูกต้อง แต่ก็คาดว่าจะจ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยได้ครบทั้ง 100% คือ 150,000 รายภายในปีนี้"

ในส่วนการชำระคืนเงินกู้ให้ธ.ก.ส.นั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กองทุนฯจะใช้เงินจากการขึ้นราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 5 บาท นำไปชำระเดือนละ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถชำระคืนหนี้ก้อนนี้ให้ ธ.ก.ส.ได้ภายใน 18 เดือน

ขณะที่ภาพรวมหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีต่อ ธ.ก.ส.มียอดหนี้เดิมที่กู้ในฤดูการผลิตปี 49/50 ซึ่งวางแผนชำระหนี้เสร็จในปี 2563 แบ่งชำระหนี้แก่ธ.ก.ส.ปีละ 450 ล้านบาท ล่าสุดยังเหลือหนี้อีก 2,100 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่กู้เงินช่วยค่าอ้อยปีที่แล้ว คือ ฤดูการผลิตปี 2556/2557 ยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระอีก 4,700 ล้านบาท คาดอีก 4 เดือนชำระส่วนนี้หมด

สำหรับสถานะกองทุนฯ ปัจจุบันยังเป็นบวก กองทุนฯ จึงจัดสรรเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 500 บาท เป็นสินเชื่อช่วยภัยแล้งแก่ชาวไร่อ้อย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ผ่อนชำระ 4 ปี เพื่อให้เกษตรกรนำไป ขุดสระ ทำระบบน้ำหยด และน้ำบาดาล โดยให้กู้รายละสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท หากในภาพรวมแล้ว ชาวไร่อ้อยต้องการวงเงินสินเชื่อที่มากกว่านี้ ก็จะพิจารณาอนุมัติเพิ่มสินเชื่อได้อีก เงินที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับไปนี้ จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี ส่วนวงเงินอีก 1,500 ล้านบาท จัดไปจัดสรรเป็นสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อย คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากันที่ร้อยละ 2 ต่อปี ผ่อนชำระนาน 6 ปี รถตัดอ้อยมีความจำเป็นเนื่องจากปัจจุบันแรงงานขาดแคลน เกษตรกรที่สนใจติดต่อได้ที่โรงงานน้ำตาลที่จะกลั่นกรองชาวไร่อ้อยได้ว่า เหมาะสมที่จะกู้เงินหรือไม่

ด้านภาพรวมของอุปสงค์และอุปทานน้ำตาลในตลาดโลก ขณะนี้อุปสงค์อยู่ที่ 170 ล้านตัน อุปทานโลกอยู่ที่ 168 ล้านตัน แต่มีแนวโน้มว่าอีก 2 ปีข้างความต้องการบริโภคจะมากกว่าผลผลิตเนื่องจากความต้องการจากจีนที่จำนำไปผลิตพลังงานทดแทนราคาก็น้ำตาลน่าจะปรับตัวสูงขึ้น

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ค่าเงินเรียวของบราซิลที่อ่อนค่าลง ทำให้บราซิลนำน้ำตาลออกมาขายในตลาดราคาที่ต่ำลงกระทบชาวไร่อ้อยไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม น้ำตาลไทยสามารถขายไปแล้ว โดยได้ราคาเฉลี่ยที่ 15 เซนต์/ปอนด์ แม้ขณะนี้ราคาตลาดโลกต่ำกว่า

โดยล่าสุดราคาน้ำตาลตลาด New York ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 13.55 เซนต์/ปอนด์

ส่วนปัญหาฝนทิ้งช่วง นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยด้วยเช่นกัน และภัยแล้งปีนี้ถือว่าเป็นประวัติการณ์ทั้งปัญหาแหล่งน้ำด้วย ชาวไร่อ้อยค่อนข้างเดือดร้อน ผลผลิตปี 58/59 น่าจะต่ำลงไป ซึ่งหวังว่าเงินเพิ่มค่าอ้อยจะมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ