CIMBT แนะจับตาเปิด AEC ภาคธนาคารเลิกแข่งดอกเบี้ย-ราคา แบงก์เล็กเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 7, 2015 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะนำมาซึ่งการเปิดเสรีการเงินข้ามชาติ นำมาซึ่งการปฏิวัติในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ สิ่งที่น่าจับตา ไม่ใช่การแข่งขันด้วยดอกเบี้ยและราคา ความใหญ่ความเล็กไม่ได้อยู่ที่จำนวนสาขา แต่ความได้เปรียบจะอยู่ที่ใคร แบงก์ไหน จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดที่สุด ผู้ได้เปรียบคือแบงก์ที่มีธุรกรรมหลากหลาย และมีเครือข่ายเชื่อมโยงตลาดในประเทศต่างๆช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ลงทุนข้ามชาติ นอกจากนี้ ถ้ามีพันธมิตรทางธุรกิจจากอุตสาหกรรมอื่นๆ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

“AEC มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ความเสี่ยง คือ ถ้าการแข่งขันรุนแรงเกินไป แบงก์เล็กอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะไม่รู้ว่าธนาคารต่างชาติที่จะเข้ามาไทยจะมารูปแบบไหน แบบเล็ก แบบใหญ่ แต่สุดท้ายก็จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางธุรกิจ และธปท.กำลังทำแผนแม่บทเพื่อเตรียมความพร้อมให้ธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนโอกาส คือ การที่การแข่งขันในอนาคตจะไม่ได้แข่งกันด้วยสาขา แต่อยู่ที่การให้บริการธุรกรรมการเงินที่หลากหลาย มีทางเลือก ซึ่งเป็นจุดที่ไทยน่าจะใช้ประโยชน์ในการก้าวเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอาเซียน สุดท้ายคนได้ประโยชน์คือ ลูกค้า" นายอมรเทพ กล่าว

อนึ่ง ธปท.มีแผนแม่บทในการเปิดเสรีภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธปท.ต้องการให้ธนาคารไทยแข็งแกร่งก่อนเปิดเสรีการเงิน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับการดูแลอย่างรัดกุมจากธปท.อยู่แล้ว การดำเนินธุรกิจได้รับการตรวจสอบสม่ำเสมอ และมีความรอบคอบกว่าในอดีต ปัจจุบัน ธนาคารไทยแข็งแกร่ง แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคารไทยขับเคลื่อนโดยธนาคารใหญ่ ดังนั้น ธนาคารกลางและเล็กต้องดิ้นรนในการทำธุรกิจในตลาดที่แข่งขันได้ ในเมื่อแข่งขันได้ ก็น่าจะอยู่รอดได้

ปัจจุบัน การเปิดเสรีมีทั้งธนาคารไทยออกไปทำธุรกิจต่างประเทศและธนาคารต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในไทย ปัจจุบัน ธนาคารไทยที่ไปเปิดสาขาในต่างประเทศเป็นการตามไปดูแลลูกค้า แต่ในอนาคต จะได้เห็นลูกค้าของประเทศนั้นๆเข้ามาใช้บริการและธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ไทย

นายอมรเทพ เปรียบ 10 ประเทศอาเซียนเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม‘เสือตื่น’ ‘เสือหมอบ’ และ ‘เสือหลับ’ เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการรวมทั้งการลงทุนจะมีบางกลุ่มในแต่ละประเทศที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่เสียประโยชน์อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการหรือถึงขั้นต้องปิดตัวลง

อย่างไรก็ดี แม้จะมีบางกลุ่มเสียประโยชน์ แต่โดยภาพรวมจะเกิดการนำทรัพยากรที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่มาหมุนเวียนใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ดีขึ้น เช่น ภาคเกษตรกรรมในประเทศไทยอาจเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงเท่าประเทศคู่แข่ง และยังมีการอุดหนุนจากภาครัฐค่อนข้างมาก อีกทั้งพึ่งพาการใช้แรงงานค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปิดเสรีก็จะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ทำให้ประเทศไทยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งมีสัดส่วนในภาคเกษตรสูงแต่กลับมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่ำ ให้แรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปยังภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ซึ่งก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้น แต่ภาครัฐต้องเพิ่มคุณภาพของแรงงานเหล่านี้ให้มีการศึกษามีทักษะที่ดีขึ้นเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นด้วย

สำหรับกลุ่มแรก ‘เสือตื่น’ ที่มีความพร้อมรวมกลุ่มอาเซียนก่อนประเทศอื่น ได้แก่ ประเทศที่มีการเปิดเสรีการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นอยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่ง 3 ประเทศนี้ไม่ต้องรอ AEC เพราะได้เปิดการค้าเสรีกับประเทศอื่นในภูมิภาคอื่นเรียบร้อยแล้ว (เอฟทีเอ) และกำลังอยู่ในกระบวนการที่จะเปิดเสรีที่กว้างขึ้นไปกว่าแค่การค้าระหว่างประเทศ ทั้ง 3 ประเทศนี้พร้อมแล้วกับ AEC และจะได้ประโยชน์จากการส่งออก และการลงทุนทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน อาหารฮาลาล หรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้อยู่แล้ว รวมทั้งการเปิดเสรีด้านบริการ เช่น ภาคธนาคาร ประกัน และบริษัทหลักทรัพย์

ส่วนกลุ่มที่สอง ‘เสือหมอบ’ ที่พร้อมเปิดเสรีบางส่วน แต่พร้อมกระโจน เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่แม้จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้า ทั้งด้านสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่จะสามารถส่งของไปเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปาทานตลาดโลกได้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังไม่พร้อม ซึ่งจะส่งผลให้การเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเลื่อนออกไปได้ โดยรวมแล้วประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามพร้อมที่จะรับ FTA หรือการลงทุนจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีที่สูงมาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีก็ จะมีภาคเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะต้องมีการทยอยปรับลดพื้นที่การเพาะปลูก หรือมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไม่อยู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศมีศักยภาพ

ขณะที่กลุ่ม ‘เสือหลับ’ คือกลุ่มประเทศ เมียนมา ลาวและกัมพูชา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเปิดการค้าการลงทุนใน AEC และอาจจะไม่ได้เปิดเสรีการค้าการลงทุนภายในปีนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎี ประเทศที่มีรายได้น้อยและมีประสิทธิภาพในการผลิตไม่สูงเหล่านี้ กลับจะได้ประโยชน์สูงที่สุดจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุน สาเหตุสำคัญคือ เมื่อเทคโนโลยีจากการค้าการลงทุน การส่งออกจากประเทศในภูมิภาคเข้ามาสู่ 3 ประเทศนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มทักษะแรงงานรวมทั้งความสามารถในการลดความผันผวนของค่าเงิน และมีรายได้จากภาคการส่งออกมาพัฒนาประเทศได้มากขึ้น

"3 ประเทศเสือหลับนี้น่าจะได้ประโยชน์สูงสุดและชนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงขึ้น จุดแข็งของประเทศกลุ่มนี้คือมีค่าแรงที่ไม่สูง มีทรัพยากรธรรมชาติมากทั้งแร่ธาตุ ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป รับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน และอาหารทะเลแช่แข็ง รวมทั้งมีพรมแดนติดกับประเทศจีนและอินเดียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเสริมความสามารถในการส่งออกในอนาคต ในเมื่อ 3 ประเทศนี้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดแล้วไทยเองซึ่งอยู่ศูนย์กลางของ 3 ประเทศนี้ก็จะได้ประโยชน์มากเช่นกันรวมทั้งความสามารถในการผลิตของประเทศไทยในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้ง 3 ประเทศนี้และเราเป็นจุด ยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคมในกลุ่มประเทศนี้ด้วยเช่นกัน ก็จะสามารถที่จะเสริมความสามารถในการส่งออกและการผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางใน 3 ประเทศนี้ได้"

สำหรับประเทศไทย นายอมรเทพ ระบุว่า จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จาก AEC อยู่ที่การปรับตัว บางอุตสาหกรรมต้องปรับตัว บางอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ในเชิงรุกเข้าไปสู่ประเทศอื่น อุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวได้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ที่มีค่าจ้างที่สูง อาจต้องเคลื่อนย้ายพี่ยังประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้ประโยชน์ เช่นอุตสาหกรรมอาหารอาหารแปรรูป ก่อสร้าง อุปโภคบริโภค ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ก็จะสามารถได้รับแรงงานเข้ามาสู่อุตสาหกรรมที่ได้มากขึ้นซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาแรงงานขาดแคลนในประเทศไทยได้ในอนาคต

ปัญหาสำคัญของไทยในอนาคตคือปัญหาทางด้านการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนที่เข้ามาประเทศไทยและต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วนว่าจะไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะของนักเรียนอาชีวะ มหาวิทยาลัย หรือทักษะทางด้านภาษาของแรงงาน ซึ่งจะสามารถตอบรับการลงทุนทุนของต่างชาติได้ดีขึ้น การพัฒนารัฐวิสาหกิจ ลดการผูกขาดของภาครัฐ และส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ