(เพิ่มเติม) นายกฯ ตรวจงานเขตเศรษฐกิจพิเศษจ.ตาก เร่งสร้างความเข้มแข็งศก.ชุมชนก่อนเชื่อมโยงภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 2, 2015 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานประชุมติดตามผลการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากว่า การเดินทางมาวันนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและจะต้องขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ เพราะหากทำได้สำเร็จจะพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 อย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคต และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นได้ ดังนั้นจึงต้องมาหารือกันในรายละเอียด ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งขอให้ภาคราชการจริงจังกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป จึงต้องฝากผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคธุรกิจในจังหวัดตาก โดยเฉพาะพื้นที่ 3 อำเภอที่อยู่ในโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากร
"นี่คือการดำเนินการทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าเราจะเดินไปสู่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นและให้ดีอย่างที่เราต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน วันนี้จะใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้ดีที่สุด โดยหวังอย่างยิ่งว่าการมาร่วมหารือในวันนี้จะเกิดประโยชน์กับในพื้นที่ และขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่คนยากจน รายได้น้อย เศรษฐี นักธุรกิจ ต้องเน้นให้มีการเพิ่มปริมาณการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านให้สูงขึ้นจากเดิม 1 แสนล้านบาทให้ถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเป็นประโยชน์ทั้งฝั่งไทยและเมียนมา รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ จีเอสพี ภาษี ที่ต้องนำมาคิดทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนการเลือกพื้นที่แม่สอดนั้น เนื่องจากมีศักยภาพสูง จึงต้องเร่งให้เกิดผลสำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น ผ่านการพัฒนาความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน สร้างการค้าที่ไร้พรหมแดน เพิ่มมูลค่าการค้าชายใหัเพิ่มขึ้น และเป็นการทำให้บ้านเมืองมีความเข้มแข็ง ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออก

โดยล่าสุดมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ลดการแออัดเน้นการขนส่งสินค้า ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องเตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจและประชาชนในพื้นที่มีความสุขจากการพัฒนา ส่วนในภาพรวมแต่ละหน่วยงานต้องสร้างการพัฒนาที่สอดคล้องกัน เช่น การผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการ พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมทักษะด้านภาษาในการทำงาน

ขณะที่ความมั่นคงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาในทุกด้าน และถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงการเป็นรัฐล้มเหลวจากความขัดแย้งและใช้ความรุนแรง ซึ่งตัองร่วมมือกันทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ขอให้ทุกคนคิดและเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาในทุกด้าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันกฎหมายที่จำเป็นและอำนวยความยุติธรรมของประชาชน ซึ่งยอมรับว่าบางโครงการอาจมีผู้ได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น และย้ำว่าหากใครไม่ชอบตนก็ไม่เป็นไร แต่อย่าโกรธอย่าเกลียดประเทศของตนเอง ขณะที่การทำงานของตนนั้นไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ แต่ขอเพียงความเข้าใจเท่านั้น

โดยวันนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน, นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์, พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก(Tak Special Economic Development Zone) ตามนโยบายรัฐบาล

ซึ่งในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับด่านการค้าชายแดน 6 ด่าน ได้แก่ ปาดังเบซาร์ สะเดา อรัญประเทศ แม่สอด บ้านคลองลึก และบ้านคลองใหญ่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่เราจะสร้างบ้านแปลงเมืองประเทศไทยกันใหม่ ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ต้องทำยุทธศาสตร์ของประเทศไทยคือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และทำตามแนววิสัยทัศน์ล่าสุดคือ Stronger together our home our country เพราะประเทศไทยคือบ้านของทุกคน ทุกคนต้องดูแลบ้านให้ดีและเข้มแข็ง ทำให้ความมั่นคงต้องควบคู่ไปกับความมั่งคั่ง แล้วจะเกิดความยั่งยืนในวันหน้า ซึ่งหากทำจุดนี้สำเร็จจะเป็นประตูไปสู่อันดามัน เชื่อมต่อเมียนมาไปอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ตุรกี ยุโรป ซึ่งเป็นการเชื่อมต่ออาเซียนกับสหภาพยุโรป และในวันหน้าไม่ว่าทุกคนจะมีความขัดแย้งกับใครก็แล้วแต่ จะต้องกลับมาดูเรื่องเศรษฐกิจ ลดความขัดแย้ง พัฒนาเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งตนเองเคยเสนอในประชาคมโลกว่าเราต้องแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นการดูแลประชาคมโลกในวันหน้า ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม 2 ส่วนคือ 1.รัฐบาลดูแลแก้ปัญหาความรุนแรง 2.ดึงคนเหล่านั้นให้กลับมามากที่สุด คือการพัฒนา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแบ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษควรทำให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาครัฐและเจ้าหน้าที่ โดยในส่วนที่รัฐบาลทำอยู่คือเรื่องการทำพื้นที่ที่มีโครงการทำเฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นตรงไหนก็ได้ที่มีความพร้อม อาจจะนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ได้ หรืออาจไกลออกไป เช่น Rubber City หรือเมืองก่อสร้าง เมืองรถยนต์ เมืองการศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ในระยะต่อไป เหมือนเช่นที่อุตสาหกรรมบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

"ในการดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่ ต้องยึดหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือความเจริญต้องเกิดจากข้างใน ถ้ามองจากเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องมองไปถึงเศรษฐกิจชุมชนว่าเขาเจริญหรือไม่ เขาได้ประโยชน์อะไร เพราะหากประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้าน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาจะต้องให้คนคิดเป็น มองปัญหาภาพใหญ่ อย่าเอาแต่ตัวเอง รัฐบาลนี้จึงยึดการลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม เพราะในโลกนี้เข้าใจดีว่า ไม่มีอะไรที่เท่าเทียมเพราะมีสูง ต่ำ ดำ ขาว แต่สิ่งที่จะให้คนเราเท่าเทียมกันได้คือกฎหมายและใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม เมตตา ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยเฉพาะข้าราชการกับประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ไทยนำแรงงานจากต่างประเทศมาใช้แรงงานจำนวนมาก จึงต้องดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติให้ดี และควบคุมคุณภาพแรงงานให้ได้มาตรฐาน ให้คุ้มค่าจ้าง ซึ่งในส่วนของคนไทยได้ให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมความพร้อมเรื่องการศึกษา พัฒนาแรงงานฝีมืออาชีพให้ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน และเท่าที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ ยินดีให้คนไทยเป็นหัวหน้าแรงงานแต่ติดเรื่องภาษาจึงต้องเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรด้วย พร้อมกันนี้อยากให้เร่งเรื่องของการมีตลาดกลางที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้นในประเทศ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบสหกรณ์ ที่หากทำได้ก็จะได้สิทธิประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ขณะเดียวกันไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการทำธุรกิจจะต้องได้ประโยชน์ทั้งคู่ เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างกันและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ