(เพิ่มเติม) เอกชนขานรับมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง SMEs คาดวงเงินกว่า 1 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 4, 2015 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ขานรับแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งรวมถึงการปล่อยวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมและการพัฒนาโครงสร้างระบบพื้นฐาน ซึ่งรมว.คลังเตรียมสรุปข้อมูลก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้า ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น

นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การสนับสนุนเอสเอ็มอีด้วยการให้เงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ควรแยกเป็นรายกลุ่ม เพื่อให้การสนับสนุนในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการสนับสนุนในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความพร้อม เห็นว่าจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น

"เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลจะมีแพ็กเกจออกมาจะทำให้เกิดการกระตุ้นไปถึงรากหญ้าและเงินเข้าไปในระบบ จะทำให้เศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น...ปกติในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา การให้ซอฟท์โลน น่าจะแยกส่วนเอสเอ็มอีที่มีความพร้อม ,กลุ่มที่ขาดความพร้อม และกลุ่มที่พร้อมจะส่งออกไปต่างประเทศ หลังจากนั้นก็น่าจะมีการให้การสนับสนุนคนที่มีความพร้อมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเรื่องการส่งออก ถ้าทำอย่างนั้นได้เอสเอ็มอีที่มีความพร้อมก็จะเป็นขุนพลทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการซื้อขายระหว่างประเทศมากขึ้น"นายพรชัย กล่าวให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์

นายพรชัย กล่าวด้วยว่า ตามปกติการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบรากหญ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ซึ่งการให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมาก็จะมีบางกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ขณะที่บางกลุ่มเข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อ ดังนั้น รัฐบาลควรจะเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ด้วยการแยกประเภทของกลุ่มเอสเอ็มอี แล้วให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มในเวลาเดียวกัน

สำหรับสถานการณ์ของกลุ่มเอสเอ็มอีตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมานับว่ามียอดขายลดลง 30-40% ในทุกกิจการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารที่ไม่เคยมีผลกระทบในช่วงหลายปีที่ผ่ามา แต่ปีนี้ก็พบว่ามียอดขายลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมที่จะเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า โดยเบื้องต้นการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ซึ่งระยะแรกจะให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยให้ธนาคารออมสินพิจารณาเรื่องการปล่อยสินเชื่อ โดยให้ส่งรายละเอียดมายังกระทรวงการคลังในวันที่ 7 ก.ย. ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.ในวันที่ 8 ก.ย.ต่อไป แต่จะใช้งบประมาณเท่าไรนั้นขอให้รอผลจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

"อย่าเรียกว่าการอัดฉีดงบ ให้เรียกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี" นายสมคิด กล่าว

ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานช่วยเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งในอนาคต โดยมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)

ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับแผนการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่จะนำเสนอต่อนายสมคิด คาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1.04 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการด้านสินเชื่อและงบประมาณจากปี 59 ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากสถาบันการเงิน 1 แสนล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์), สินเชื่อจากโครงการพลิกฟื้นเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา 1,000 ล้านบาท ที่แปลงมาจากกองทุนตั้งตัวได้ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) 1,000 ล้านบาท

กองทุนสตาร์ตอัพนักรบใหม่ 1,500 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน 500 ล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์ 500 ล้านบาท และกำลังได้รับจากธนาคารกรุงไทยอีก 500 ล้านบาท ,งบบูรณาการเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีประจำปี 59 อีก 1,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเอสเอ็มอี ที่ต้องการขยายตลาด เพิ่มกำลังผลิต และโครงการเพิ่มรายได้ โดยรัฐบาลจะเพิ่มช่องทางการตลาด อาทิ ปิดถนนสีลมเพื่อให้ เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้ามาระบายแก่ผู้ซื้อโดยตรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ