(เพิ่มเติม) นายกฯ คิกออฟเงินกองทุนหมู่บ้าน-ธ.ก.ส.คาดจ่ายเงินแล้วเสร็จธ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2015 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนฯ)ระดับดีมาก (A) และระดับดี (B) กองทุนฯ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท แห่งละ 30,000 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนฯ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน กระตุ้นการใช้จ่ายในภาคชนบท เพื่อสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจฐานราก

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความพร้อมในการอนุมัติเงินสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองว่า “ธ.ก.ส.มีความพร้อมในการดำเนินการตามโครงการนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส.รับผิดชอบจ่ายสินเชื่อให้แก่กองทุนฯ ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ดูแลกองทุนฯ ระดับ A และ B จำนวน 20,584 กองทุน จากกองทุนฯ ระดับ A และ B ทั้งหมด 59,062 กองทุน ให้สินเชื่อกองทุนฯ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยแยกจากวงเงินกู้ปกติของธนาคา ชำระคืนเสร็จไม่เกิน 7 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก ส่วน 5 ปีต่อไป คิดดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคารบวกด้วยร้อยละ 1 ต่อปี

“ธ.ก.ส.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อไว้อย่างรัดกุม ได้แก่ การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยการทำประชาคมการกำหนดให้โอนเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากสมาชิกรายคน การตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนฯ และสุ่มสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิก ทั้งนี้สามารถให้สินเชื่อได้ทันทีเมื่อกองทุนผ่านการประชาคมและยื่นเรื่องกู้ต่อธนาคาร"นายลักษณ์ กล่าว

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้พิจารณากองทุนหมู่บ้านที่เป็นฐานลูกค้าเดิมเกรด A และ B เบื้องต้นมีความพร้อมที่ธนาคารฯ ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ณ วันที่ 14 กันยายน 2558 จำนวน 8,441 กองทุน วงเงิน 8,441 ล้านบาท จากเป้าหมาย 30,000 กองทุน วงเงิน 30,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนจะสามารถอนุมัติวงเงินได้รวมแล้ว 15,000 กองทุน

อย่างไรก็ตาม หลักการกองทุนหมู่บ้าน 8,441 แห่งที่ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อแล้วสามารถติดต่อสาขาในพื้นที่ได้ทันที ซึ่งธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้กับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) และให้ สทบ. ส่งรายชื่อแต่ละกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ธนาคารออมสินโอนเงินโดยตรง สำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวนั้น สทบ.เน้นไปที่ 59,850 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนเกรด A จำนวน 21,000 กองทุน และเกรด B อีก 38,000 กองทุน วัตถุประสงค์หลักในการใช้สินเชื่อเน้นส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ทั้งในลักษณะรายบุคคล และรายกลุ่ม (Cluster) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโครงการสำคัญ คือ มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ระยะเร่งด่วน รวม 5 มาตรการ โดยธนาคารออมสินเข้าไปมีบทบาทในส่วนของ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ SMEs

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อัตรา ร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และรัฐบาลชดเชยส่วนต่าง อัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสิน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้วงเงินจากโครงการนี้ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล" โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ และโครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งธนาคารอมสินจะเร่งเปิดให้บริการโดยเร็วต่อไป

"ธนาคารออมสินได้เชิญผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐที่สนใจเข้าร่วมโครงการมารับทราบรายละเอียด เงื่อนไข วิธีปฏิบัติ ซักซ้อมความเข้าใจ ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมที่จะเริ่มปล่อยกู้ได้ หลังจากนี้จะทำหนังสือเชิญผู้บริหารแต่ละสถาบันการเงินเพื่อร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU) ในงานเปิดแผนปฏิบัติการเอสเอ็มอีอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 กันยายนที่เมืองทองธานี ซึ่งจะมีกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ" นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า ธนาคารออมสิน มีความคืบหน้าในโครงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการให้สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อประชาชนสุขใจ สินเชื่อออมสุขใจ สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ และสินเชื่อคืนความสุข โดยในภาพรวมของสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนช่วงระหว่างเดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 ธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวนกว่า 200,000 ราย คิดเป็นเงิน 19,534.63 ล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อคงเหลือ (ณ 31 สิงหาคม 2558) อยู่ที่ 970,412 ราย คิดเป็นเงิน 68,205 ล้านบาท โดยที่ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถทำให้ประชาชนในระดับผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินกู้ในโครงการนี้เพื่อไปประกอบอาชีพ หารายได้เพิ่มได้แล้วรวมจำนวนทั้งสิ้นถึง 4,130,760 ราย คิดเป็นเม็ดเงินจำนวน 235,722 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าธนาคารออมสินที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ภาระหนี้ครัวเรือน และภัยธรรมชาติ ด้วยการพักชำระเงินต้น สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2558 ปรากฏว่า มีลูกค้าสนใจลงทะเบียน 94,359 ราย คิดเป็นเงิน 43,963 ล้านบาท ซึ่งธนาคารฯ ได้ทยอยอนุมัติไปแล้วรวม 30,471 ราย คิดเป็นเงิน 14,503 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ