พาณิชย์ ปั้น 3 โครงการผลักดันขยายตลาดข้าวไรซ์เบอรี่ในฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 9, 2016 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทยากร มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง (สคร.ฮ่องกง) ระบุจากยุทธศาสตร์ Demand Driven สู่กลยุทธ์การเจาะตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ในปีนี้ สคร.ฮ่องกง วางแผนประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดันการขยายตลาดข้าวไรซ์เบอรี่ในฮ่องกง โดยแบ่งเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งในส่วนตลาดบน ตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ และตลาดผู้รักสุขภาพทั่วไป ตลอดจนการเชิญสื่อมวลชนสายไลฟ์สไตล์ อาหาร สุขภาพ และบล๊อกเกอร์รายสำคัญเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยระหว่างวันที่ 5-30 เม.ย.59 จะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเดิมจัดประชาสัมพันธ์ข้าวไรซ์เบอรี่ในงานไทยเฟสติวัลที่โรงแรมมีร่า ด้วยการนำข้าวไรซ์เบอรี่และแป้งจากข้าวชนิดดังกล่าวมาทำเมนูอาหารและขนมปัง เพื่อเจาะตลาดระดับบนให้ทราบถึงประโยชน์ของข้าวชนิดนี้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสอนทำอาหารจากข้าวไรซ์เบอรี่ และโปรแกรมเดินทางไปเที่ยวชมแหล่งปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งนับเป็นการผสมผสานการค้าและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกันตามนโยบายของรัฐบาล

หลังจากนั้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.59 จะร่วมกับห้างอีออนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไรซ์เบอรี่ให้กับกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ โดยสาธิตการปรุงอาหารจากข้าวไรซ์เบอรี่และการนำผลิตภัณฑ์สินค้าประเภท Ready to Cook มาจัดแสดงและจำหน่าย

และในช่วงเดือน ก.ค.59 สคร.ฮ่องกง จะร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการไทย และบริษัท Maxim’s Group ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านอาหารและเบเกอรี่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงที่มีสาขาถึง 380 แห่ง รวมถึงเป็นผู้ถือแฟรนไชน์ Starbucks ในฮ่องกง นำข้าว/แป้งจากข้าวไรซ์เบอรี่มาทำเป็นอาหารและขนมชนิดต่างๆ ทั้งขนมปัง ครัวซอง มัฟฟิ้น คุ้กกี้ เค้ก เป็นต้น ตลอดจนการทำขนมไหว้พระจันทร์เพื่อจำหน่ายในร้านอาหารและเบเกอรี่ของกลุ่ม Maxim’s Group

ผู้อำนวยการ สคร.ฮ่องกง กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีการแยกสถิติการนำเข้าข้าวไรซ์เบอรี่โดยเฉพาะ แต่ตลาดข้าวสุขภาพ/ข้าวออแกนิคในฮ่องกงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทั้งด้านปริมาณและมูลค่า ในปี 2558 ฮ่องกงนำเข้าข้าวประเภทดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 2,215 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่นำเข้า 1,985 ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 โดยไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 92.2 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นอันดับ 2 และ 3

ขณะที่ด้านมูลค่าการนำเข้าของข้าวชนิดนี้ในฮ่องกง เมื่อปี 2558 สูงถึง 299.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราคาเฉลี่ย 1,352.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิในปี 2558 เฉลี่ย 914.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาข้าวสุขภาพ/ข้าวออแกนิคมีราคาสูงกว่าข้าวหอมมะลิถึงร้อยละ 40 และราคาขายปลีกสูงกว่าร้อยละ 100 ขึ้นไป โดยไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 84.4 และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.8

นอกจากนี้ Hong Kong Organic Resource Center ได้รายงานพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าออแกนิคในฮ่องกงว่า อัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าดังกล่าวในปี 2558 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 18.4 ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเครื่องหมายรับรองออแกนิคบนฉลากสินค้าเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 80.5) และยอมจ่ายสูงกว่าสินค้าปกติหากมีเครื่องหมายดังกล่าว

ปัจจุบันฮ่องกงเป็นตลาดหลักข้าวคุณภาพสูงของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ด้วยส่วนแบ่งในตลาดมากกว่าร้อยละ 56 และความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าฮ่องกงมากว่า 50 ปี

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคข้าวคุณภาพสูงได้ขยายตัวไปยังข้าวสุขภาพ ข้าวออแกนิค ข้าวกล้อง และข้าวสีต่างๆ ซึ่งมีคุณประโยชน์แตกต่างกัน แม้แนวโน้มการบริโภคข้าวสวยในฮ่องกงจะลดลงบ้างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภครุ่นใหม่หันไปนิยมรับประทานขนมปังและเส้นเพิ่มมากขึ้นตามสภาพความเป็นอยู่ที่เร่งรีบ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นโอกาสทองของข้าวกล้องไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอรี่ และแป้งข้าวไรซ์เบอรี่ เนื่องจากมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง อาทิ โอเมก้า3 ธาตุสังกะสี เหล็ก วิตามินอี บี1 ฯลฯ อีกทั้งตัวแป้งสามารถนำมาทำเป็นขนมปังและอาหารประเภทอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายมีกลิ่นหอมและรสชาติอมหวาน อร่อยกว่าแป้งสาลีมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ