"ออมสิน"สั่ง ร.ฟ.ท.แจงการประมูลจัดซื้อเครื่องกลึงล้อรถไฟหลังถูกครหาราคาแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2016 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ตรวจสอบและชี้แจงรายละเอียดโครงการจัดซื้อเครื่องกลึงล้อรถไฟ หลังจากนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าส่อพิรุธราคาแพง พร้อมกันนี้ได้แจ้งไปยังคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.แล้วให้ตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะอนุมัติ โดยเฉพาะราคากลางที่ 149.8 ล้านบาท ขณะที่มีข้อท้วงติงว่าราคาตลาดเพียงแค่ 35 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันมากเกินไป และประเด็นนี้ต้องชี้แจงให้ชัดเจน

ส่วนประเด็นที่ ร.ฟ.ท.เปิดประมูลจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เพิ่มอีก 7 ขบวน และจัดซื้อหัวรถจักรจำนวน 50 คัน มีผู้ซื้อซองประมูลหลายราย แต่มายื่นประมูลเพียงรายเดียวนั้น ทำให้จะต้องใช้การเจรจาต่อรองราคา ซึ่งกลายเป็นใช้วิธีพิเศษนั้น นายออมสิน กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะการเสนอราคาแข่งขันควรมี 2-3 ราย ดังนั้น การมีผู้ยื่นเสนอเพียงรายเดียว จึงน่าสังเกตว่ามีสาเหตุหรือปัญหาตรงไหนหรือไม่ ทำไมยอมเสียค่าซื้อซองราคา 3 แสนบาทไปเฉยๆ แล้วไม่ยื่น ซึ่งอาจเป็นปัญหาตัว TOR สเปคแคบไปหรือไม่ เรื่องนี้ได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ไปพิจารณา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่สบายใจ แต่ขณะนี้การจัดซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน และหัวจักร 50 คัน ได้ยกเลิกไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ได้เร่งซ่อมบำรุงบางส่วน (Partial Overhaul) โดยบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้ อนุมัติให้แอร์พอร์ตลิงก์ไปดำเนินการในวงเงิน 385 ล้านบาท แต่เมื่อเปิดประมูลมียื่นซอง 2 ราย แต่พบว่าผิดสเปค จึงยกเลิกประมูล ขณะนี้ยังไม่ได้ประมูลใหม่ จึงเน้นให้ปรับปรุงโดยเพิ่มที่นั่งรถด่วน(Express Line) 4 ขบวนโดยเร็ว

ด้าน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การจัดซื้อเครื่องกลึงล้อใต้พื้นพร้อมติดตั้ง จำนวน 1 เครื่องรถไฟนั้น ใช้วิธีการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดำเนินการจัดซื้อ ปรากฏว่ามีผู้สนใจซื้อซองเสนอราคา 10 ราย เมื่อสิ้นสุดเวลายื่นเอกสารมีผู้ยื่นซองเอกสารเพียง 4 ราย ซึ่งคณะกรรมการได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีผู้ที่ชนะการเสนอราคาเพียง 1 ราย จากนั้นได้ทำการเจรจาต่อรองราคาตามระเบียบกำหนด

แต่เนื่องจาก ร.ฟ.ท.เห็นว่ายังคงมีรายละเอียดบางประการที่สามารถดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ร.ฟ.ท.ได้อีก จึงได้เสนอผลการดำเนินการเบื้องต้นให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ทราบ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.นำไปพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ครอบคลุมรอบด้าน และยังไม่มีการบรรจุวาระหรือเตรียมเสนอให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.วันที่ 12 เม.ย.59 เพื่อพิจารณาอนุมัติแต่อย่างใด

ส่วนโครงการจัดหารถไฟฟ้าธรรมดา (City line Airport Rail Link) จำนวน 7 ขบวน ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ธ.ค.56 จึงได้มีการดำเนินการเพื่อจัดซื้อโดยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ซึ่งได้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีและของ ร.ฟ.ท.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด

และเมื่อพบว่าข้อเท็จจริงที่ ร.ฟ.ท.พยายามค้นพบให้ได้ข้อสรุปเพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดซื้อ เช่น การปรับปรุงรถไฟฟ้า Express Line ให้เป็นขบวนรถ City Line สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น, หามาตรการเร่งรัดการจ้างซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) โดยให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ทยอยส่งขบวนรถเข้าซ่อมโดยไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ, ศึกษาระบบอาณัติสัญญาณให้รอบคอบยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเดินรถในอนาคต เป็นต้น ซึ่งข้อค้นพบเหล่านี้ได้นำมาซึ่งการหารือ บอร์ด ร.ฟ.ท. และได้มีมติให้ยกเลิกการจัดซื้อขบวนรถทั้ง 7 ขบวน ไปแล้วเมื่อคราวการประชุมในวันที่ 29 มี.ค.59 ที่ผ่านมา

ส่วนการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คัน ร.ฟ.ท.กำหนดการจัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ซื้อซองประกวดราคา 14 ราย แต่มีผู้ยื่นเอกสารเพียง 1 ราย แต่ผู้เสนอราคาเป็นผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น เนื่องจากหนังสือสัญญาค้ำประกัน การวางหลักประกันซองประกวดราคาไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด จึงให้ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.59 แล้ว

ดังนั้น ข้อความที่ปรากฏบน Social media ผ่าน Facebook ของบุคคลที่อ้างตนแสดงความห่วงใยนั้น เป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อนปราศจากความเป็นจริงทั้งสิ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ