(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 59 เหลือโต 3% จากเดิมคาด 3.5-4% หลังคาดส่งออกโตแค่ 0.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 12, 2016 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 59 เหลือเติบโต 3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4% โดยปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ ภัยแล้งยาวนาน หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

"การปรับลด GDP ในปีนี้ลงเหลือโต 3% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.5% นั้น เป็นเพราะมีการปรับลดคาดการณ์การส่งออกปีนี้ลงเหลือโตเพียง 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2-3% ซึ่งการส่งออกที่ลดลงไปในสัดส่วนดังกล่าว คิดเป็นเม็ดเงินที่จะต้องหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 4 แสนล้านบาท ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานกระทบกับราคาพืชผลและรายได้ของเกษตรกรที่จะหดหายไปจากระบบเศรษฐกิจอีกราว 1.2 แสนล้านบาท จึงทำให้ต้องปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากเดิม"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในด้านต่างๆ ทั้งมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์, การเติมเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน, โครงการประชารัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมแล้วทำให้มีเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ได้อีกราว 4 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อหักลบกันแล้วคาดว่าในปีนี้จะมีเม็ดเงินที่หายไปจากระบบเพียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลง 0.5%

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มมีผลต่อการบริโภค ตลอดจนการลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มชัดเจนขึ้น, ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง, การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว, รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและงบรายจ่ายลงทุน, การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี, การดำเนินนโยบายด้านการเงินผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 1.50% มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ, การลงทุนเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาครัฐและเอกชน และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ

ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญ คือ ปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรหายไป, สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน, สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขหนี้เสีย, สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้าและแบนสินค้าประมงของไทยชั่วคราว, องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้ใบแดงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย, เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจโดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประเทศ และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประกอบกับค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดใหม่ ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยใหม่ที่ท้าทายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59

“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกนี้อาจจะยังฟื้นตัวได้ไม่โดดเด่นมาก แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เรามองว่าครึ่งปีแรกนี้ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 2.7% ส่วนครึ่งปีหลังโตได้ 3.3% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีโตได้ 3%"นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับในปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.4% ขณะที่การส่งออกจะเติบโต 3.1% การนำเข้าเติบโต 6.6% ดุลการค้าเกินดุล 45.2 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 46.7 พันล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ระดับ 1.2% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 43 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.98 บาท/ดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.50%

ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยของปีหน้า คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนที่จะเห็นผลชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/59 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 60, ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง, การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่, การฟื้นตัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ

ขณะที่ยังคงมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะมีผลทำให้ตลาดเงินเกิดความผันผวน และมีความกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาสินค้าภายในประเทศ, ความกังวลต่อภาวะสงครามและภัยก่อการร้าย ที่จะมีผลทำให้การค้าและการลงทุนของโลกเกิดความชะงักงัน, ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ภัยแล้งที่ยาวนาน กระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร รวมทั้งหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ