บสย. เผย Q2/59 ลุยออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ"สตาร์ทอัพ/นวัตกรรม"-เร่งศึกษาโมเดลค้ำประกัน"นาโนไฟแนนซ์"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในไตรมาส 2 ว่า บสย.จะเร่งดำเนินการผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งแต่ละโครงการได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไปแล้ว ได้แก่

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 วงเงินอนุมัติ 100,000 ล้านบาท อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้วจำนวน 67,103 ล้านบาท เหลือวงเงินอีก 32,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ บสย.อยู่ในระหว่างการเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติการขอขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 (ปรับปรุงใหม่) ซึ่งจากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เป็น สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Policy Loan วงเงินอนุมัติ 15,000 ล้านบาท อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้ว จำนวน 9,500 ล้านบาท เหลือวงเงินอีก 5,500 บาท

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ระยะ 2 วงเงินอนุมัติ 13,500 ล้านบาท ซึ่ง บสย.ได้ลงนามความร่วมมือกับ 17 ธนาคาร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 และปัจจุบันมีธนาคารที่ร่วมโครงการและปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs จำนวน 3 รายคือ ธนาคารออมสิน, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และธนาคารทิสโก้ อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 255 ราย วงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 23 ล้านบาท

นอกจากนี้ บสย.ยังได้เร่งออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามแผนประชารัฐ ประกอบด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม Start-up/นวัตกรรม ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่ม Start-up /นวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โครงการขนาดไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันตลอดอายุโครงการไม่เกิน 10 ปี วงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 5 -20 ล้านบาท 2. ศึกษาแผนงานโมเดลค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ตามนโยบายกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ บสย.จะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ราย และค้ำประกันสินเชื่อได้ 100,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย.ในรอบ 4 เดือน (1 ม.ค.-30 เม.ย.59) มียอดค้ำประกันทั้งสิ้น 30,850 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อ จำนวน 9,187 ราย แยกตามรายภาค คือ 1.กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 2,942 ราย วงเงินอนุมัติ 12,199 ล้านบาท 2.ภาคกลาง จำนวน 838 ราย วงเงินอนุมัติ 2,574 ล้านบาท 3.ภาคตะวันออก จำนวน 841 ราย วงเงินอนุมัติ 2,858 ล้านบาท 4.ภาคเหนือ จำนวน 1,300 ราย วงเงินอนุมัติ 4,359 ล้านบาท 5.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,643 ราย วงเงินอนุมัติ 4,714 ล้านบาท 6.ภาคใต้ จำนวน 1,100 ราย วงเงินอนุมัติ 4,143 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่ผู้ประกอบการ SMEs ขอใช้สูงสุด คือ ผลิตภัณฑ์ค้ำประกัน PGS5 (ปรับปรุงใหม่) จำนวน 6,761 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 25,103.91 ล้านบาท

"ผลดำเนินงาน 4 เดือนแรก เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และมั่นใจว่ายอดค้ำประกันสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล" นายนิธิศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ