ธปท. เผยสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบงก์ทั้งระบบใหม่ หลังโครงสร้างบิดเบือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 26, 2016 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การคิดอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตจากบัตรแถบแม่เหล็กมาเป็นบัตรแบบชิปการ์ดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละธนาคารพาณิชย์เอง เพราะแต่ละธนาคารมีต้นทุนแตกต่างกัน แต่ในสิ่งที่ ธปท.จะทำได้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุดนั้น คือการรวบรวมข้อมูลค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงินของแต่ละธนาคารไว้ และเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และจะทำให้แต่ละธนาคารเกิดการแข่งขันกันในเรื่องค่าธรรมเนียมมากขึ้น

"ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ เพราะแต่ละแบงก์ให้บริการไม่เหมือนกัน แต่ที่ ธปท.ทำเพื่อให้เกิดความโป่รงใส คือ จะมีการเปิดเผยค่าธรรมเนียมของแต่ละแบงก์ไว้ในเว็บไซต์ ว่าแต่ละแบงก์คิดค่าอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้แต่ละแบงก์ได้เห็นกันเองด้วยว่าแบงก์อื่นๆ คิดอัตราเท่าใด ดังนั้นจึงจะเห็นว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา หลายแบงก์ปรับค่าธรรมเนียมลง" ผู้ว่าฯธปท.กล่าว

พร้อมยอมรับว่า โครงสร้างค่าธรรมเนียมระบบการชำระเงินของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันถือว่ายังไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากบางรายการมีต้นทุนสูงแต่ไม่คิดค่าธรรมเนียม หรือคิดค่าธรรมเนียมอัตราต่ำ ในขณะที่บางรายการมีต้นทุนต่ำ แต่ยังคิดค่าธรรมเนียมในอัตราสูง ดังนั้นในเรื่องปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งระบบเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องดำเนินการ และเชื่อว่าขณะนี้สมาคมธนาคารไทยกำลังพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือจะพยายามก้าวข้ามในจุดนี้ให้ได้ เพื่อมุ่งสู่การใช้ระบบ E-payment ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจเองด้วย

"โครงสร้างค่าธรรมเนียมระบบการชำระเงินของไทย เป็นโครงสร้างที่บิดเบือนอยู่มาก เดิมมีบริการที่ต้นทุนสูงแต่ค่าธรรมเนียมถูกหรืออาจจะฟรี โดยเฉพาะบริการด้านเงินสด ลองคิดดูว่าการใช้เงินสดมีต้นทุนมากแค่ไหน เริ่มตั้งแต่ธปท.พิมพ์ธนบัตรออกมา ธนาคารพาณิชย์มารับเงินไปกระจายตามตู้ ATM มีค่าประกัน เวลาเอาเงินสดเข้าธนาคารก็ต้องจ้างคนมานับ กระบวนการใช้เงินสดจึงมีต้นทุนสูงมาก และประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้เงินสดต่อ GDP ค่อนข้างสูง ดังนั้นเราจึงอยากส่งเสริมเรื่อง Electronic Payment แต่ที่ผ่านมาโครงสร้างค่าธรรมเนียมอาจจะบิดเบี้ยว เพราะเราไม่เคยคิดค่าธรรมเนียมกับการใช้เงินสดและเช็ค ทั้งที่มีต้นทุนสูง ดังนั้นเมื่อมีบริการใหม่ๆ ออกมา ธนาคารพาณิชย์จึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสูง เพื่อมาชดเชยกัน" นายวิรไท กล่าว

พร้อมระบุว่า ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศในระยะยาวนั้น ธปท.และกระทรวงคลังกำลังร่วมกับขับเคลื่อนโครงการ National E-Payment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดใช้เงินสด ทั้งนี้ยอมรับว่าในช่วงแรก ประชาชนอาจจะเคยชินกับการใช้เงินสดอยู่ แต่ในระยะต่อไป การลดการใช้เงินสดและหันมาใช้บัตรที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูง จะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และลดต้นทุนของประชาชนได้มากขึ้น และการเปลี่ยนบัตรจากแถบแม่เหล็กมาบัตรเป็นแบบชิปการ์ดนั้น จะช่วยยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยทางการเงิน เพราะบัตรแบบแถบแม่เหล็กมีโอกาสที่จะถูกผู้ไม่หวังดีนำไปทำให้เกิดความเสียหายได้มากกว่า ซึ่งการใช้ชิปการ์ดและรหัส 6 ตัวจะเป็นมาตรฐานที่ดีขึ้น ยกระดับความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ