Brexit: ธ.สแตนดาร์ดฯชี้อังกฤษออกจาก EU กระทบ GDP ปีนี้หดตัว จับตาปท.อื่นแยกตัวตาม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2016 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโรเบิร์ต มินิคิน หัวหน้าทีมวิจัยด้านการแลกเปลี่ยน ภูมิภาคเอเชีย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวในงาน "จับตาครึ่งหลังเศรษฐกิจโลก 2559"ว่า กรณีการลงประชามติของอังกฤษที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอังกฤษ ราว 0.7% ซึ่งธนาคารฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอังกฤษจะขยายตัวได้เพียง 1.2% จากเดิมที่คาดโต 1.9% และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปราว 0.2% จากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวได้ 1.2% จากเดิมคาดโต 1.4%

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น คาดว่าค่าเงินปอนด์จะปรับตัวอ่อนค่าราว 1.23 ดอลลาร์/ปอนด์ และค่าเงินยูโรนจะอ่อนค่า 1.03 ดอลลาร์/ยูโร อย่างไรก็ตาม จากการปรับตัวอ่อนค่าของสกุลเงินปอนด์และเงินยูโร จะส่งผลทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งน่าจะแข็งค่าแตะ 95 เยน/ดอลลาร์

ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงิน มองว่าอังกฤษจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และยุโรปจะเร่งดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเร็วขึ้น คาดว่าจะเห็นได้ในไตรมาส 3/59 ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ในทางกลับกันอาจจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะกลับมาอยู่ในระดับ 0% ในช่วงไตรมาส 4/59 หลังการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ดำเนินการเสร็จสิ้น

สำหรับผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียนั้น ธนาคารฯ มองว่าค่อนข้างมีน้อยจากการค้าการลงทุนระหว่างไทย-อังกฤษ มีสัดส่วนเพียง 1.4% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป กระบวนการการค้าต่างๆ น่าจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี ในการเปลี่ยนแปลง และเกิด impact ขณะที่ในแง่ของผลกระทบกับสกุลเงินต่างๆ ในเอเชีย คาดว่า 3 สกุลเงินที่จะมีความอ่อนไหวมากที่สุด คือ ประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเกาหลี ที่น่าจะปรับตัวอ่อนค่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังต้องจับตาดูต่อ คือการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มเติมอีก ทั้งประเทศฝรั่งเศส,เดนมาร์ก ,โปแลนด์ และฮังการี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ