ธปท.ชี้ศก.ไทยปี 59 ได้แรงหนุนท่องเที่ยว-อุปสงค์ในปท.ชดเชยส่งออก/ปี 60 โตต่ำกว่าคาดตามภาวะศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2016 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ โดยอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีกว่า คาดช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ซบเซาลง

สำหรับปี 2560 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อย ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและภาวะการส่งออก สินค้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มต่ำกว่าเดิมเล็กน้อยเช่นกัน สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม แต่ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปใกล้เคียงประมาณการเดิม

ทั้งนี้ พัฒนาการสำคัญที่ กนง.ได้นำมาพิจารณาเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ 2.ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด 3.จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าที่เคยประเมินไว้ และ 4.การใช้จ่ายภาครัฐทำได้ดีต่อเนื่อง และรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

เศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม เพราะเศรษฐกิจเอเชียได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการค้าในภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยปรับลดลง แม้ราคาสินค้าส่งออกปรับดีขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี แรงส่งของเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอลงมาก เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกบริการที่ขยายตัวดีกว่าคาดตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงเดิม โดยมีแรงสนับสนุนจากรายได้ที่ปรับดีขึ้นในภาคบริการช่วยชดเชยรายได้ในภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ประกอบกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้นบ้างตามราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ ความกังวลต่อปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง หลังปริมาณน้ำฝนเริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติ

ในส่วนของภาครัฐ การใช้จ่ายที่ทำได้ต่อเนื่องผนวกกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการภาครัฐซึ่งปรับดีขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตส่วนเกินของภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้การลงทุน ภาคเอกชนในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างต่ำ

แรงกดดันเงินเฟ้อด้านต้นทุนสูงขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตลอดช่วงประมาณการตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างไรก็ดี ต้นทุนบางส่วนถูกทอนด้วยค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าคาดตามต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในปี 2559 แรงกดดันเงินเฟ้อในปี 2559 จึงใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อยตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 ที่ต่ำกว่าประมาณการเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ