พาณิชย์ระบุ สหรัฐฯขีดเส้นโรงงานภายใน 26 ก.ค.61 จัดทำฉลากสินค้าอาหารใหม่เพิ่มข้อมูลน้ำตาล

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 10, 2016 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ว่า สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ประกาศกฎระเบียบใหม่ของการปิดฉลากโภชนาการสินค้าอาหาร เพื่อให้สะท้อนถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริโภคของคนและโรคเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ฉลากแบบใหม่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจง่ายยิ่งขึ้นว่า จะซื้อสินค้ารายการนั้นมาบริโภคหรือไม่ โดยโรงงานผู้ผลิตสินค้าอาหารขนาดใหญ่จะต้องจัดทำฉลากสินค้าตามกฎระเบียบใหม่นี้ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 และโรงงานขนาดเล็กหรือโรงงานที่มียอดขายอาหารประจำปีต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ภายในวันที่ 26 กรกฏาคม 2562

ภายใต้กฎระเบียบใหม่นี้ ผู้ผลิตจะต้องลงรายละเอียดปริมาณน้ำตาล เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพด น้ำตาลทราย และน้ำตาลแดง โดยบอกปริมาณเป็นกรัม และสัดส่วนที่ควรรับประทานในหนึ่งวัน นอกจากนี้ตัวอักษรบนฉลากจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับแคลอรีจากไขมันจะถูกถอดออกไป เนื่องจากผลวิจัยพบว่าชนิดของไขมันมีความสำคัญมากกว่าปริมาณ เช่น ไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคหัวใจ เป็นต้น

“ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคจะสามารถเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้สะดวกมากขึ้นจากข้อมูลบนฉลาก การออกกฎระเบียบใหม่นี้ จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นับตั้งแต่เริ่มมีการติดฉลากให้ข้อมูลทางโภชนาการแก่ผู้บริโภคซึ่งมีมากว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารไทยต้องปรับปรุงฉลากตามระเบียบใหม่นี้ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการใช้วัตถุดิบในการผลิต เพื่อให้สินค้าอาหารไทยส่งไปตลาดสหรัฐฯ ได้" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

เอฟดีเอ สหรัฐฯ ระบุว่า “ไขมันทรานส์" ไม่ปลอดภัยในการใช้เป็นส่วนผสมการผลิตอาหาร อย่างไรก็ตามได้อนุโลมให้ผู้ผลิตอาหารยื่นคำร้องขออนุญาตใช้เป็นบางกรณี พร้อมให้เวลาอุตสาหกรรมอาหารสหรัฐฯ อีก 3 ปี เพื่อเตรียมกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ไขมันทรานส์ โดยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2561 จะต้องเลิกใช้ไขมันทรานส์ เพื่อลดปัญหาโรคหัวใจ หรือช่วยป้องกันภาวะหัวใจวาย ซึ่งระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับต่อสินค้าอาหารทั้งที่ผลิตในสหรัฐฯ และนำเข้าจากต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ