ซูเปอร์บอร์ด ไฟเขียวโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ กฟภ.-ขยายวงเงินสนามบินภูเก็ต-รถไฟสีแดงอ่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 11, 2016 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ พิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ และมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะสมุย วงเงินลงทุนโครงการจำนวน 2,130 ล้านบาท และเกาะเต่า วงเงินลงทุนโครงการจำนวน 1,776 ล้านบาท จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อให้ กฟภ.สามารถขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนในพื้นที่เกาะสมุยและเกาะเต่าได้อย่างเพียงพอและมั่นคง และมอบหมายให้ กฟภ. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. จำนวน 8,861 ล้านบาท โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้จำนวน 3,069 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยผลกระทบด้านเสียงที่เกิดจากการดำเนินโครงการ และเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้อาศัยโดยรอบ และให้ ทอท.พิจารณาลำดับความเร่งด่วนตามความเดือดร้อน และนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป

นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท และให้ทาง รฟท. บริหารทรัพย์สินโดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเขตทางรถไฟและย่านสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติ คนร. และตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ประกอบไปด้วย 1.บมจ.การบินไทย (THAI) ที่มีผลการดำเนินงานความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยให้ บมจ.การบินไทย เร่งเพิ่มรายได้ค่าโดยสารโดยการปรับปรุงระบบการขายและจัดจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง และให้คงรักษาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย นอกจากนี้ให้ บมจ.การบินไทย เป็นผู้นำในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคร่วมกับสายการบินอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ถือว่ามีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยให้ ธพว.พยายามลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ 18,000 ล้านบาทภายในปีนี้

3.ที่ประชุมฯ มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ในการให้ใบอนุญาตในการเดินรถแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งการยกเลิกดังกล่าว จะเป็นการปฏิรูประบบการขนส่งมวลชนในส่วนของรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ โดยการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ และปรับบทบาทให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และ ขสมก.เป็นเพียงผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) รายหนึ่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอแผนงานและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

4.ที่ประชุมฯ รับทราบแนวทางการจัดหารถโดยสารจำนวน 3,183 คัน ของ ขสมก. และให้กระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนแผนการจัดหารถโดยสารต่อไป

5.ที่ประชุมฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และกระทรวงคมนาคมร่วมจัดทำหลักเกณฑ์ในการพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ของ รฟท.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับติดตามการพัฒนาที่ดิน Non-core ของ รฟท. ทั้งระบบ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ตามแนวข้างทางเส้นทางรถไฟทางคู่ และสถานีรถไฟ และให้มีการนำเสนอ คนร.พิจารณาภายใน 3 เดือน

6.ที่ประชุมฯ รับทราบการปรับโครงสร้างของ บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) โดยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของ ทีโอที และ กสท ได้แก่ บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO) บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO) และบริษัทศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต (IDC CO) โดยให้กระทรวง ICT กำกับให้ ทีโอที และ กสท จัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินกิจการของทั้ง 3 บริษัท และดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานของ ทีโอที และ กสท ต่อไป

และ 7.ที่ประชุมฯ รับทราบแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยให้กระทรวงการคลังเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้นำโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มูลค่าโครงการรวม 31,137 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้าร่วมในโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ และเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ เนื่องจากเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจนั้น นายเอกนิติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งนำเสนอการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฯ ตามข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ เช่น การปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งและกระบวนการสรรหากรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติที่โปร่งใส และการกำหนดตัวชี้วัดเชิงประสิทธิภาพให้กับบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และนำเสนอต่อที่ประชุม สนช.ในช่วงไตรมาสที่ 4 และคาดว่าจะเห็นกฏหมายฉบับนี้ได้ในช่วงสิ้นปี 59


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ