กบส.เห็นชอบลดขั้นตอนกม.,กระบวนการนำเข้า-ส่งออก 5 สินค้ายุทธศาสตร์ คาดลดคชจ.ปีละ 330 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 13, 2016 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาและข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ เพื่อปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐรายสินค้ายุทธศาสตร์ ประกอบด้วย น้ำตาล, ข้าว, ยางพารา, สินค้าแช่แข็ง และวัตถุอันตราย พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเสนอมายังคณะกรรมการกบส.ในทุก 6 เดือน ซึ่งการปรับลดขั้นตอนและกฏหมายในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์ ทั้ง 5 สินค้า จะทำให้ประเทศสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการทำธุรกรรมการค้าไม่ต่ำกว่าปีละ 330 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ เพื่อรับผิดชอบการกำกับดูแลและพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) รองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นของการพัฒนาระบบงานแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อให้การพัฒนาระบบดังกล่าวมีความต่อเนื่องมีประสิทธิภาพรองรับการพัฒนาในระยะยาว เป็นการสอด คล้องกับเงื่อนไขและมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายต้องการในการบริการธุรกรรมทางการเงินประเทศภายในปี 2564 ดังนี้ 1. มีระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษตลอดกระบวนการและทุกรูปแบบของการขนส่งอย่างปลอดภัย 2.พัฒนาระบบไปสู่บริการ NSW 3.เวลาดำเนินการรวดเร็วขึ้น 50% และ 4.ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรม 25%

นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการ กบส. เพื่อพิจารณากำหนดทางเลือกการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและพัฒนาระบบ NSW ที่เหมาะสม และพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับภารกิจของหน่วยงานและให้นำเสนอต่อคณะกรรมการ กบส.พิจารณาภายใน 3 เดือน

นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางความเหมาะสมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาด้านต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น พิจารณากำหนดเกณฑ์ในการก่อสร้างถนน รองรับกรณีฉุกเฉินการขึ้นลงของเครื่องบิน และความเหมาะสมการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ข้างทางของโครงการลงทุนและแนวทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มมูลค่าของโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการขนส่งทางถนนและทางรถไฟ การพัฒนาการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ โดยให้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1 เดือน

ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับการพัฒนาระหว่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล กับภูมิภาค และความเชื่อมโยงภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กรอบความร่วมมือ GMS IMT-GT และอาเซียน เป็นต้น และแนวทางในการพัฒนาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดน พร้อมทั้งให้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการเร่งด่วนในปี 2560 ที่จะต้องมีความชัดเจนของผลการพัฒนาและความคุ้มค่าของการดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการ กบส.

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยปี 2557 ซึ่งต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่ารวม 1,874.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 14.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ปี 2557 ประกอบด้วย 3.ส่วน คือ 1.การขนส่งสินค้า 7.5% ของจีดีพี 2.การเก็บรักษาสินค้าคงคลัง 5.4% ของจีดีพี และ 3.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 1.3% ของจีดีพี ซึ่งในปี 2558 คาดว่าสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีจะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 14.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ