เอกชนเผยผลหารือปลัดคลังเลื่อนเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูงไม่มีกำหนดห่วงกระทบหลายภาคส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2016 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องขึ้นภาษีน้ำตาลในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มว่า ล่าสุดคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีผู้แทนสมาคมเครื่องดื่ม สมาคมน้ำตาลได้ประชุมร่วมกัน โดยมีข้อสรุปให้เลื่อนการเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม ผู้บริโภค เกษตรกรชาวไร่อ้อย

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ขอให้ไปศึกษาแนวทางอื่น ๆ ที่จะใช้ในการรณรงค์การบริโภคน้ำตาลให้ถูกต้องแก่ประชาชน ให้ความรู้เรื่องการบริโภคน้ำตาล เพราะอาหารที่ทานอยู่ทุกวันก็มีน้ำตาลเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรบริโภคน้ำตาลหรือความหวานในปริมาณที่พอดี ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าในกระแสที่มีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพก็ต้องผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลน้อยลง

นายคมกริช กล่าวว่า ผลกระทบในแต่ละส่วนนั้นประการแรก การเก็บภาษีสรรพสามิตจะมีผลทำให้ราคาสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงขึ้น เพราะผู้ผลิตอาจผลักภาระไปให้ผู้บริโภครับไปส่วนนึง ซึ่งจะกระทบต่อผู้ขายที่จะทำให้ยอดขายลดลง

ส่วนผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย คือ การจำหน่ายน้ำตาลในประเทศมีราคาส่วนหนึ่งที่เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงาน 70:30 ซึ่งหากยอดขายน้ำตาลในประเทศลดลง ก็จะทำให้รายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรมลดลงด้วย เพราะปัจจุบันราคาน้ำตาลส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศ เมื่อการบริโภคน้ำตาลในประเทศน้อยลง รายได้รวมน้อยลง เมื่อคำนวณเป็นราคาอ้อยก็อาจทำให้ราคาลดลงด้วย ผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับก็น้อยลงตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 30 กก./คน/ปี มีอัตราการเติบโตราว 2-3% ต่อปีตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เป็นทั้งผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม ขนมส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย ซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมด้วย นอกจากนี้ การบริโภคน้ำตาลในประเทศไทยยังเติบโตตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทย รวมทั้งเติบโตตามจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ