สศก.แนะไทยจับตาใกล้ชิดหลังจีนทบทวนนโยบายการค้าต่อประเทศสมาชิก WTO

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2016 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จีนเป็นประเทศผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20-22 ก.ค.ที่ผ่านมา จีนได้มีการชี้แจงนโยบายการค้าต่อประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ภายใต้กลไกการทบทวนนโยบายการค้าขององค์การการค้าโลก เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการปฏิบัติทางการค้าในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบันจีนอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยแผนพัฒนาการเกษตรของจีนมุ่งเน้นการปฏิรูปภาคเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและความทันสมัย รวมถึงการปรับปรุงนโยบายการอุดหนุนภาคเกษตรในภาพรวม เพื่อปกป้องที่ดินและรักษาคุณภาพของที่ดินเพื่อการเกษตร และการเพิ่มผลผลิตธัญพืชเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถนำนโยบายด้านการเกษตรเหล่านี้มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยได้ด้วย

ด้านนางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทย ซึ่งตั้งแต่ปี 2556-2558 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตร 12% ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกเฉลี่ยปีละ 167,615 ล้านบาท และมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% ต่อปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับจีนมาโดยตลอด สินค้าส่งออกสำคัญไปจีน ได้แก่ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ทุเรียนสด ผลไม้อื่นๆ (เช่น ลำไย เงาะ น้อยหน่า และลิ้นจี่) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ ปลายข้าว น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่นๆ ปลาป่น ซึ่งไม่เหมาะสำหรับมนุษย์บริโภค

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในโลก นอกจากนี้ จีนยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากจีนมีนโยบายสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น การรับรู้และเข้าถึงนโยบายการค้าของจีน จะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวเพื่อกำหนดแนวทางการขยายโอกาสทางการค้าและการพัฒนาระหว่างกันได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ