เอกชนคาดไทยซิวแชมป์ส่งออกข้าวปีนี้ 9.5 ล้านตัน ห่วงปีหน้าคู่แข่งตัดราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 3, 2016 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.59) สามารถส่งออกได้แล้ว 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ส่วนอันดับ 2 คือ อินเดีย ส่งออกได้ 4.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12%, เวียดนาม 2.66 ล้านตัน ลดลง 2.1% และปากีสถาน 2.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.5%

โดยทั้งปี 59 คาดว่าไทยจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน มากกว่าอินเดียที่จะส่งออกได้ 9 ล้านตัน แต่ปีหน้ามีโอกาสที่ไทยจะหลุดแชมป์ส่งออกข้าวให้กับอินเดีย เนื่องจากการแข่งขันเรื่องราคาที่รุนแรง และอินเดียยังเหลือสต๊อกข้าวในประเทศ 20 ล้านตัน ขณะที่ประเทศผู้ซื้อชะลอการนำเข้าเพื่อเร่งเพาะปลูกในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์ข้าวในประเทศนั้นน่าเป็นห่วงเรื่องผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูกาลหน้า หรือนาปีปีการผลิต 59/60 ที่คาดผลผลิตจะมากกว่าฤดูกาลที่ผ่านมาถึง 10-20% หรือประมาณ 16-17 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกจะลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนถึงปี 60 โดยสาเหตุที่มีผลผลิตมากขึ้นเพราะเกษตรกรเร่งการเพาะปลูก หลังจากฝนเริ่มตกตามฤดูกาล และคาดว่าสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับผู้ปลูกข้าวประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย และเวียดนาม ทำให้ในปีหน้าจะเกิดการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวอย่างรุนแรง และคาดว่าปีหน้าราคาข้าวเปลือกเจ้าอาจต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท

นอกจากนี้ ราคาส่งออกข้าวไทยยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยปัจจุบันเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 2-3% จาก 36 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแพงขึ้นอีก 10 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งอยากให้รัฐบาลหามาตรการดูแล แต่ไม่ควรแทรกแซงราคา เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ โดยต้องการให้ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง เช่น การจ่ายเงินให้กับเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท ในกลุ่มของเกษตรกรที่ทำนาต่ำกว่า 20 ไร่ ซึ่งจะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)

"มาตรการที่รัฐบาลกำลังทำคือรับจำนำข้าวยุ้งฉาง และชดเชยดอกเบี้ยโรงสี 3% เพื่อเก็บสต๊อกข้าวไม่ให้ขายในช่วงข้าวออกมากนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลราคาข้าวให้กับชาวนาไทย อีกทั้งจะให้ผู้ส่งออกข้าวช่วยรับซื้อข้าวมาเก็บสต๊อกเหมือนปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ไม่มีเงินแล้ว เพราะปีก่อนรับซื้อข้าวหอมมะลิ 150,000 ตันๆ ละ 26,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ตันละ 22,000-23,000 บาท ขาดทุนตันละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 450 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ยและค่าฝากเก็บ ซึ่งมาตรการนี้ไม่สามารถผลักดันให้ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นได้" นายเจริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ