ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคธุรกิจครึ่งปีหลังดีขึ้นจากครึ่งปีแรก แนะดูแลค่าบาทสอดคล้องคู่แข่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 18, 2016 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินสถานะทางธุรกิจไทย โอกาส และความเสี่ยงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ อยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 และไตรมาส 2 โดยทั้งปีนี้ดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.3 ขณะที่ในปี 60 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ทีระดับ 119.5 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ โดยมีสัญญาณที่ส่งมาจากภาคบริการ ภาคการค้า ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเกษตรที่มองว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติม และคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการมองว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปีนี้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.ปัจจัยด้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี 2.ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล และ 3. ปัจจัยด้านการทำธุรกิจ ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปีหน้า สูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.ปัจจัยด้านเศรษฐกิน 2.ปัจจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และ 3. ปัจจจัยด้านทรัพยากรบุคคล

"ปัจจัยด้านเศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยแรกที่คาดว่าจะทำให้ภาคธุรกิจในปีหน้าดีกว่าปีนี้ เพราะภาคธุรกิจต่างมีความหวังต่อภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยในการขับเคลื่อนการทำธุรกิจให้ดีขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต รายได้ และทัศนคติให้ดียิ่งขึ้น, การส่งเสริมและพัฒนาแรงงานในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตร, การกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น, การส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ, การส่งเสริมและพัฒนาการส่งออกสินค้าไปยังนานาชาติ และการจัดการ-บริหารในด้านต้นทุนให้ต่ำลงและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนนั้น ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ 40.8% มองว่าการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง ส่วนภาคธุรกิจ 29.1% มองว่าได้รับผลกระทบมาก มีเพียง 8.2% ที่ตอบว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก ทั้งนี้ผู้ประกอบส่วนใหญ่ 52.6% มองว่าระดับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันมีความเหมาะสมน้อย โดยมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์

พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป และควรดูแลค่าเงินบาทให้ปรับไปในทิศทางและอัตราใกล้เคียงกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง รวมทั้งต้องสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน ขณะเดียวกันมองว่าภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนไปต่างประเทศให้มากขึ้น และสนับสนุนการลดต้นทุนสำหรับการส่งออกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ