"อาคม" เผยรถไฟไทยจีนรอถอดแบบ-ผล EIA คาดชง ครม.อนุมัติประมูลได้ ก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday August 27, 2016 09:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เผยผลประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 13 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมร่วมฯ ยังยืนยันกรอบวงเงินลงทุนโครงการไว้ที่ 1.79 แสนล้านบาท โดยฝ่ายจีนรับข้อเสนอเป็นผู้รับผิดชอบค่าศึกษาความเหมาะสมวงเงินหลายร้อยล้านบาทไว้พิจารณา โดยจะไม่รวมกับมูลค่าโครงการ ส่วนค่าออกแบบนั้นมีกรอบวงเงินไว้แล้ว โดยฝ่ายจีนจะต้องเสนอรายละเอียดเสนอเข้ามาให้ไทยอนุมัติและจ่ายเงินตามจริง

ส่วนค่าฝึกอบรมซึ่งได้ตกลงกรอบที่ 920 ล้านบาทนั้นจะสำหรับแบบก่อสร้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ซึ่งจีนส่งแบบให้ฝ่ายเทคนิคของไทยได้ตรวจสอบแล้วและมีความเห็นให้จีนปรับรหัสมาตรฐานวัสดุใหม่ เนื่องจากกำหนดมาเป็นมาตรฐานจีน ซึ่งไม่สามารถอดแบบและคำนวณค่าก่อสร้างออกมาได้ตามมาตรฐานวัสดุไทยได้ เช่น ปูนซีเมนต์คุณภาพไหน เหล็กขนาดไหน เป็นต้น โดยกำหนดเวลาปรับแก้ไขให้เรียบร้อยภายใน 10 วัน

ส่วนการแยกร่างสัญญารูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) เป็น EPC-1 สัญญางานก่อสร้าง ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยรับผิดชอบ โดยรอสรุปรายละเอียดของแบบจึงจะสามารถออก TOR เปิดประมูลก่อสร้างได้ ส่วน EPC-2 ซึ่งเป็นงานที่จีนรับผิดชอบ ได้ปรับใหม่โดยแยกออกเป็น 3 สัญญา คือ EPC-2.1 สัญญางานออกแบบ, EPC-2.2 สัญญาควบคุมงานก่อสร้างและติดตั้งระบบ, EPC-2.3 สัญญาจัดหาระบบตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ซ่อมบำรุงและฝึกอบรม โดยมีวงเงินประมาณ 15-20% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งจีนต้องการเร่งเซ็นสัญญา EPC-2.1 และ EPC-2.2 เพื่อเริ่มงานก่อสร้างโดยเร็ว ซึ่งยังคงยึดเป้าหมายไว้ที่เดือน ก.ย.59 ตามเดิม โดยตั้งเป้าเจรจารายละเอียดร่างสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 19-21 ก.ย.นี้

"ประเด็นร่างสัญญา EPC นั้นจะต้องพิจารณาเนื้อหาอย่างรอบคอบ ในส่วนของการบังคับใช้ตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งต้องไม่เสียเปรียบ โดยเฉพาะเงื่อนไขความรับผิด เช่น งานก่อสร้างช้าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จีนเนื่องจากไม่สามารถเข้ามาติดตั้งราง ซึ่งเป็นงานในส่วนที่จีนรับผิดชอบ โดยฝ่ายไทยเจรจาจะไม่ชดใช้เป็นตัวเงิน แต่จะชดใช้เป็นขยายระยะเวลาที่ล่าช้าให้แทน รวมถึงเจรจาเรื่องความรับผิดกรณีโครงการไม่สำเร็จจะต้องชดใช้ให้จีนเป็นตัวเงิน ตรงนี้จะไม่มีเช่นกัน" นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยจะมีขั้นตอนภายในที่ต้องดำเนินการ โดยหลังสรุปแบบและรายละเอียดวงเงินค่าก่อสร้างแล้ว จะต้องขออนุมัติโครงการ โดยขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จากนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพื่อเริ่มขั้นตอนการประกวดราคา โดยการเปิดประมูลนั้นจะมีขั้นตอนและระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน เนื่องจากประมูลวิธีปกติ โดยจะทำคู่ขนานไปกับกระบวนการพิจารณาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามคำสั่ง ม.44 ซึ่งขณะนี้ EIA รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คชก.) จึงยังลงนามในสัญญา ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ และเริ่มการประกวดราคา โดยจะมีการพิจารณาปรับกรอบเวลาเริ่มต้นก่อสร้างให้สอดคล้องกับการทำงานอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ