เอกชนค้าน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ เสี่ยงขัด WTO-กระทบเสถียรภาพอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2016 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ทางสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือข้อคิดเห็นและคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่การรับฟังความเห็นในครั้งที่ 2 (8 ก.ย.)

สำหรับในช่วงเช้าเป็นการรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในประเด็นต่างๆ ส่วนภาคบ่ายเป็นการรับฟังความคิดเห็นของชาวไร่อ้อย

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังคงยืนยันถึงข้อกังวลต่อการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และประเพณีปฏิบัติที่ยึดโยงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายที่มีมามากกว่า 30 ปี

"ไม่เห็นด้วย 3 มาตรการหลักของการแก้ไขกฎหมาย ตั้งแต่ประเด็น มาตรา 3 การนำกากอ้อยและกากตะกอนกรองไปรวมเป็นผลพลอยได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 อีกทั้งรายละเอียดหน้าที่ กอน. ตามมาตรา 17 ยังขัดต่อหลักกฎหมายของ WTO"

เนื่องจากมาตรา 3 ของ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. … ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและชาวไร่อ้อยนั้น ได้กำหนดให้กากอ้อย และกากตะกอนกรอง เข้าไปรวมในคำนิยามของผลพลอยได้ โดยกำหนดให้นำไปคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายด้วย จากเดิมที่กากอ้อยและกากตะกอนกรองได้ถูกรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยเข้าหีบที่โรงงานซื้อไปแล้ว และยังเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานน้ำตาลมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โรงงานน้ำตาลทุกแห่งจึงนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย และมีเพียงบางโรงที่มีเพียงพอนำไปจำหน่ายให้แก่ กฟผ. โดยลงทุนเองทั้งหมด

นอกจากนี้ ข้อเสนอมาตราดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับและความเห็นพ้องร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลก่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สามารถปฏิบัติได้ในอนาคตหากมีการบังคับใช้ในมาตราดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยยึดหลักการแบ่งปันรายได้จากระบบมายาวนานกว่า 30 ปี

"การกำหนดนิยามตามร่างแก้ไข พ.ร.บ. ในมาตรา 3 ขัดกับหลักข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายและเงื่อนไข และราคาการรับซื้ออ้อยที่กำหนดให้แบ่งรายได้สุทธิจากการขายน้ำตาลทรายภายในประเทศและต่างประเทศในสัดส่วน 70/30 โดยผลพลอยได้ทุกชนิดจากการผลิตอ้อยให้ตกเป็นของโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายอ้อยระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล" นายเชิดพงษ์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 17 อาจจะขัดแย้งกับข้อตกลง WTO ในหลายประเด็น เช่น ยังคงให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กำหนดหรือจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายให้แก่โรงงานน้ำตาลทรายผลิต หรือประเด็นการยังคงให้รัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวในบางมาตรา แทน ครม.จะยังถือว่ารัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายหรือไม่ เนื่องจากมีการกำหนดให้ลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับในทางกฎหมาย

ขณะที่การแก้ไขข้อกำหนดบทลงโทษทั้งฝ่ายชาวไร่และโรงงานน้ำตาลนั้น ทางสมาคมไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา บทลงโทษใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับเดิม มิได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงต่อระบบแต่อย่างใด อีกทั้งการเพิ่มค่าปรับตามที่เสนอใน พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขใหม่นั้น โดยให้เหตุผลว่าปรับให้สูงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป และกำหนดอัตราขั้นต่ำ ยังขัดกับการหลักการออกกฎหมายทั่วไป จึงเห็นว่าไม่ควรปรับแก้ในมาตรานี้แต่อย่างใด

ด้านนายวิบูลย์ พาณิชย์สิริวงศ์ รองประธาน บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ประเด็นที่ WTO ฟ้อง เนื่องจาก 5-6 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตจากไทยเพิ่มขึ้นมากจนรู้ว่าเพราะรัฐบาลให้การอุดหนุน ทำให้เกษตรกรพากันปลูกอ้อยทำให้ราคาอ้อยในตลาดโลกผิดปกติ ราคาดิ่งมา แต่น้ำตาลของไทยกลับยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผิดหลักกลไกของตลาด

"จริงๆแล้วมันอยู่ที่ราคาตลาดโลก ถ้าราคาไม่ดี 3 ปีติดต่อกันยังไงๆ ราคาก็ดิ่ง ช่วยยังไงก็ไม่รอดเหมือนสินค้าเกษตรตัวอื่น ไม่มีใครเอาเงินมาช่วยอุ้มได้ตลอดไป แต่เราก็ต้องทำให้ระบบของเราแข็งแรง ให้ทนทานต่อปัจจัยของโลก" นายวิบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ WTO ยังไม่ได้สรุปว่าไทยผิดหรือไม่ผิด แต่อะไรที่ WTO ห่วงใย กังวล ก็พยายามทำให้ดีที่สุด ทำให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เป็นประเด็นปัญหาในฐานะที่ไทยก็เป็นสมาชิกอง WTO ด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้ขัด WTO โดยใช้กฎหมายนี้มา 32 ปีแล้ว แต่ที่จะแก้กฎหมายเพื่อปรับปรุงหลักการเดิมให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้นำเรื่องข้อท้วงติงของ WTO มาทบทวนไปด้วยเลย ซึ่งการแก้กฎหมายดังกล่าว จะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นไปตามโรดแมพของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบาย New s-curve หรือการทำเกษตรแปรรูปมากขึ้น ซึ่งการแก้กฎหมายจะสามารถบริหารจัดการรองรับชาวไร่ชาวนาที่ประสงค์จะปลูกอ้อยได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จะนำข้อสรุปจากการรับฟังความเห็นวันนี้ เข้าที่ประชุม กอน.อีกครั้งในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ก่อนส่งให้ รมว.อุตสาหกรรม ผ่านความเห็นชอบแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป


แท็ก อุตสาหกรรม   WTO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ