ไอซีที-ซิป้า คิกออฟเปิดตัว Phuket Smart City สนับสนุน Super Cluster Digitalและรองรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 9, 2016 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้าในพิธีเปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือโครงการ Phuket Smart City แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อรองรับนักลงทุนในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ครอบคลุม 8 แผนงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งเปิดศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี การให้คำปรึกษาธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัลจังหวัดภูเก็ต และในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันนับเป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ (Startup) พร้อมก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของการเริ่มต้นในการพัฒนา Phuket Smart City โดยมี SIPA เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเรียนรู้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City ทั้งการสนับสนุนการลงทุนด้านดิจิทัล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านธุรกิจแก่ Tech Startup และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ASEAN Tourism Software Excellence Center, IoT Smart City Lab, BIM Innovation Center เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจแนวสร้างสรรค์ หรือ Creative Entrepreneurs ผ่าน Creative Entrepreneurship Academy เป็นต้น

"SIPA มีผลการดำเนินงานโครงการ Phuket Smart City จังหวัดภูเก็ตชัดเจน และเป็นไปตามโรดแมพในแผนงานที่วางไว้โดยมุ่งสนองนโยบายของกระทรวงฯ และรัฐบาลในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งมองว่าจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่และก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างบูรณาการ" นายอุตตม กล่าว

สำหรับ 8 แผนงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Thailand) ของกระทรวงฯ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้และเกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City โดยตรง ได้แก่ 1.โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และโครงข่าย ได้แก่ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน 3.การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) 4.การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ SMEs 5.การพัฒนาบริการดิจิทัลในภาครัฐ ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 มิติ คือการปรับกระบวนการดำเนินการภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการภาครัฐ 6.การพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล ได้แก่ โครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล (Tech Startup) 7.การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้แก่ โครงการพัฒนา Phuket Smart City จังหวัดภูเก็ต และ 8.การสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เช่น การเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เป็นต้น

รมว.ไอซีที กล่าวว่า โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล Phuket Smart City และการจัดตั้งศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับว่าเป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนา ได้แก่ 1.โครงการ Certified Digital Workers/investors เพื่อการรับรองและให้สิทธิประโยชน์ Digital Workers และDigital Investors 2.โครงการจัดตั้ง Phuket Smart City Innovation Park เพื่อสนับสนุน Super Cluster Digital 3.โครงการศึกษาและพัฒนา Ecosystem and Incentive Study and Roadshow เพื่อรวบรวมมาตรการส่งเสริมการพัฒนา 4.โครงการพัฒนาระบบ Smart WiFi โดยกิจกรรมทั้งหมดมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และทำให้เกิดการรวมกันของกลุ่ม Digital Workers, Angel Investors/Venture Capital, Technology and Innovation Cooperation หรือ Regional Head Office เป็นต้น

ด้านนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร SIPA กล่าวว่า โครงการ Phuket Smart City และศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับเป็นการนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในเชิงพื้นที่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคล่องตัว โดยยึดหลักแนวคิดของมาตรฐาน IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers) ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.Smart Economy คือ เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างบริษัทใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล 2.Smart Environment คือเมืองที่ประหยัดพลังงาน Green building หรือการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.Smart Governance คือเมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส มีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ 4.Smart Living คือเมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยสะดวกด้านการศึกษา และด้านสุขภาพอนามัย 5.Smart Mobility คือเมืองที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว และมีความปลอดภัย 6.Smart People คือ เมืองที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส คนสูงอายุ เปิดโอกาสให้คนในเมืองมีส่วนร่วม โดยจังหวัดภูเก็ต ได้แบ่งการดำเนินการเรื่อง Phuket Smart City ออกเป็น 7 ส่วน คือ Smart Economy, Smart Tourism, Smart Safety, Smart Environment, Smart Healthcare Smart Education และ Smart Governance โดยในปีแรกมุ่งเน้นในเรื่อง Smart Economy, Smart Tourism, Smart Safety และ Smart Environment มุ่งเน้นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนและประชาชนมีความสุข โดยตั้งเป้าหมายให้ภูเก็ตเป็น Smart City ในปี 2020 ในภาพ Smile Smart and Sustainable Phuket

ประธานกรรมการบริหาร SIPA กล่าวว่า โครงการ Phuket Smart City ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยมุ่งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่แสดงถึงความ Smart ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Smart Business, Smart Tourism, Smart Education, Smart Safety, Smart Environment, Smart Government และ Smart Health Care ซึ่งในพิธีเปิดงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในช่วง Kick Off:Phuket Smart City 2020, การลงนามความร่วมมือการพัฒนา Phuket Smart City Innovation Park เพื่อสนับสนุน Super Cluster Digital และการเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศซอฟต์แวร์แห่งอาเซียนด้านการท่องเที่ยวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ