TMB คาดกนง.รอบนี้คงดอกเบี้ย หลังการลงทุนภาคเอกชนยังมีความไม่แน่นอน-ส่งออกยังหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 9, 2016 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ทั้งนี้มองว่ายังมีช่องว่างให้ลดดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยยังสูงอยู่

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองขยายตัวดีขึ้นที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในไตรมาสหนึ่ง และ 2.8% ในปี 2558 ทั้งนี้ มุมมองเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อเร่งการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 10.8% (yoy) แม้จะยังไม่ใช่ช่วงฤดูท่องเที่ยว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับเข้าสู่กรอบเป้าหมายจากราคาอาหารและพลังงานที่เริ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และมีแนวโน้มที่จะยังคงติดลบที่ 1.9% ในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังไม่กลับมา สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนที่จะชะลอตัวหลังปัจจัยบวกชั่วคราวหมดไป

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมี policy space ในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ โดยหากเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังหักอัตราเงินเฟ้อ) ของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อัตราดังกล่าวของไทยจะอยู่ที่ 1.52% ซึ่งต่ำกว่า 1.58% ของประเทศอินโดเซีย แต่สูงกว่าของหลายประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ที่ 0.55% 0.41% และ 0.40% ตามลำดับ

"การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะกระตุ้นพฤติกรรม search for yield หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ทำให้ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่แท้จริง ซึ่งอาจส่งผลลบต่อเสถียรภาพการเงิน" ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ

โดยรวมแล้ว ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่เพราะพฤติกรรม search for yield และภาวะความผันผวนภายนอกที่สูงนั้น การรักษา policy space ไว้จึงยังเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ การส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัว อีกทั้งความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงคาดว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 14 ก.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ