(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออกส.ค.ขยายตัว 6.5% พลิกเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือนและสูงสุดในรอบ 6 เดือน,นำเข้าหดตัว -1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 26, 2016 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ส.ค.59 การส่งออกมีมูลค่า 18,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.5% ขณะที่ตลาดคาดส่งออกหดตัว -1.4% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,697 ล้านเหรีญสหรัฐฯ หดตัว -1.5% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ส.ค.59 เกินดุล 2,128 ล้านเหรียญสหรัฐ

"แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2559 ได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 5 เดือนที่ 6.5% และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 6 เดือน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยภาพรวมการส่งออกในเดือน ส.ค.59 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของทั้งปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เนื่องจากภาวะภัยแล้ง การชะลอตัวของอุปสงค์โลก และราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง -4.1% ) สินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าว และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูปไม่รวมกุ้ง (ลดลง 31.9% 21.4% 8.0% และ 1.9% ตามลำดับ) แต่มีสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (ส่งออกไปตลาดฮ่องกง อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา) กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง (ส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา) เครื่องดื่ม (ส่งออกไปตลาดเวียดนาม พม่า และกัมพูชา) ไก่แปรรูป (ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ส่งออกไปตลาดจีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) รวม 8 เดือนแรกการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว -5.9%

ส่วนภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกยานยนต์ที่ขยายตัวในระดับสูง รวมทั้งการขยายตัวของภาคการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะ CLMV โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.0% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 40.4% (ส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 44.5% (ส่งออกไปตลาด ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 25.0% (ส่งออกไปตลาด ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอดขยายตัว 102.6% (ส่งออกไปตลาด สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น) และผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 11.0% (ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น) ในขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป โทรทัศน์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ (หดตัว -45.6% -21.6% -18.7% -6.8% และ -1.3% ตามลำดับ) รวม 8 เดือนแรกการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 1.0%

สำหรับการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.59) มีมูลค่ารวม 141,007 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.2% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 125,624 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -8.8% โดยการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 15,384 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตลาดส่งออกสำคัญของไทยปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกตลาด ยกเว้นตะวันออกกลางที่ยังหดตัว โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่กลับมาขยายตัวสูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวอีกครั้งของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ผลไม้ และไก่แปรรูป กลับมาขยายตัวได้ดี และเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่าประเทศไทยอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกของไทยอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อีกทั้งยังรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ดีในเกือบทุกตลาด

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 59 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค. โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มการทรงตัวของราคาน้ำมันดิบ ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้งค่าเงินบาทแม้จะยังแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการออกมาตรการ QE และมาตรการทางการเงินของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ทั้งปี 59 คาดว่าการส่งออกจะดีกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้ โดยทั้งปี 59 คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในช่วง -1.0% ถึง 0.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วง ต.ค.-ธ.ค.59 สูงกว่าปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและความต้องการตลาดโลก, ตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง สินค้า Lifestyle และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นผลจาก Urbanization ของประเทศเหล่านี้, แนวโน้มการส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ (แผงโซล่าเซลล์) ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมากตามความต้องการตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ, FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอย่างมีนัยยะ และการนำเข้าสินค้าทุนในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การออกมาตรการ QE และมาตรการทางการเงินอื่นๆ ของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่อาจชะลอออกไป ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าในระดับนี้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ