พาณิชย์ ประเมินส่งออกทั้งปี 59 อาจหดตัว -1% ถึงทรงตัวที่ 0% จากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 26, 2016 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยทั้งปีประเมินว่าการส่งออกอาจจะติดลบเพียง 1% ถึงทรงตัว หรือเติบโตเป็น 0% ซึ่งหากจะทำได้ตามกรอบคาดการณ์ดังกล่าว การส่งออกในแต่ละเดือนช่วงอีก 4 เดือนที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.59) จะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 17,800 ล้านบาท/เดือน

"การส่งออกปีนี้ เรามั่นใจว่าจะไม่ต่ำไปกว่า -1% แน่นอน แต่ถ้าจะให้มากกว่านั้นคงต้องขึ้นอยู่กับภาคเอกชน รวมทั้งมาตรการที่เราจะทำในช่วงที่เหลืออีก 4 เดือนนี้...จริง ๆ เราก็อยากจะให้ส่งออกเป็นบวก แต่ ณ วันนี้ ระดับต่ำสุดที่รับได้คือไม่ต่ำกว่า -1% ซึ่งถือว่าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้"รมช.พาณิชย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะเติบโตได้ในระดับ 2.5-3.5% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในข่วง 35.00-37.00 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ การขยายตัวของส่งออกไทยคงไม่สามารถอาศัยแต่ปัจจัยจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวได้ แต่กระทรวงพาณิชย์จะพยายามขับเคลื่อนมาตรการในช่วงที่เหลือเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกในระยะสั้น โดยเร็ว ๆ นี้จะเชิญผู้ส่งออกในกลุ่มอาหาร, อัญมณี, ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกอยู่ในลำดับต้นๆ มาร่วมหารือกันเพื่อหาทางปลดล็อคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้

"การส่งออกนั้น เราจะพึ่งแต่ปัจจัยภายนอกไม่ได้ เราจะพยายามขับเคลื่อนไปข้างหน้า จะมีการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยจะเชิญผู้ส่งออกมาคุยเพื่อหาทางปลดล็อกการส่งออกระยะสั้น จะทำงานบูรณาการกันหลายกรม เพื่อให้ภาพรวมการค้าของประเทศเกิดความสมดุล" รมช.พาณิชย์ กล่าว

ด้านน.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า จากการที่หลายสำนักคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ว่าจะอยู่ที่ -2% นั้น หากประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วมั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่า -2% อย่างแน่นอน

ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงปลายปีนี้จะสูงกว่าช่วงปลายปีก่อน และทำให้มูลค่าการส่งออกน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรก็มีราคาเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน และความต้องการในตลาดโลกที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเติบโตของตลาด CLMV ในหลายด้านทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับความเป็นเมือง (Urbanization) มากขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้าง สินค้าเครื่องใช้ต่างๆ

ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องติดตาม คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เพราะจะมีผลกระทบต่อการส่งออกและค่าเงิน ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ไหลกลับเข้าไปยังสหรัฐได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ