ผู้ว่า ธปท.เตือนอย่ามองแค่ GDP ระยะสั้น เสนอ 4 ประเด็นวางรากฐาน-ผลักดัน ศก.โตยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2016 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "Thailand Agenda 2030 : วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยยั่งยืน"ว่า ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะสั้นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ปัญหาเฉพาะหน้ามาบดบังเรื่องสำคัญในระยะยาว

"ตัวเลขเศรษฐกิจที่เราควรให้ความสำคัญจึงไม่ได้มีแค่การเติบโตของ GDP ในปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องมองไปถึงอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาวด้วย"นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับกับดักเชิงโครงสร้างในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามารถทางเทคโนโลยีทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ, กรอบกฎเกณฑ์กติกาที่ล้าสมัยไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจยุคใหม่, การขาดประสิทธิภาพของระบราชการ และที่สำคัญคือโครงสร้างของประชากรไทยที่ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านแรงงาน

ประเทศไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนประชากรที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปัจจุบัน เป็น 27% ในอีก 15 ปีข้างหน้า และที่สำคัญในส่วนของระบบการเมืองนั้น ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มฐานเสียงที่สำคัญ รัฐบาลและพรรคการเมืองจะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุมากกว่าที่จะขับเคลื่อนนโยบยปฏิรูปเศรษฐกิจไปข้างหน้า เหมือนกับที่หลายประเทศอุตสาหกรรมหลักกำลังติดกับดักอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยได้ก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ.2030 และอนาคตหลังจากนั้นได้อย่างเท่าเทียมกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น จึงเสนอมุมมองใน 4 ประเด็นที่เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เราขับเคลื่อนไหในแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเด็นแรก การพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไม่ใช่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานร่วมกัน และต้องสนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่เกิดการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมีพลัง

ประเด็นที่สอง จะต้องปรับการให้น้ำหนักจากการมองระยะสั้นไปสู่การมองระยะยาว การมุ่งให้ความสำคัญกับปัญหาระยะสั้นมากเกินไปอาจทำให้ลืมคิดถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ประเด็นที่สาม ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในทุกเรื่องหลักที่ทำ โดยรัฐบาลต้องระวังรักษาระดับหนี้สาธารณะให้เหมาะสม ธนาคารกลางต้องรักษาทุนสำรองให้เพียงพอ เพื่อรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และดูแลให้ระบบสถาบันการเงินมีสัดส่วนเงินกองทุนที่มากพอ ธุรกิจต้องระมัดระวังไม่ให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินควร ขณะที่ประชาชนเองต้องรักษาระดับเงินออม รักษาสุขภาพ และรักษาจิตใจให้สามารถรรับแรงปะทะใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่สี่ ต้องสร้างสภาวะแวดดล้อมหรือระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเท่าทันกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและความรุนแรงของปัญหาที่ต้องเผชิญ

"ทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทยให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้เรามีรากฐานสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วย" นายวิรไท กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ