(เพิ่มเติม1) สนพ.เผย 9 เดือนปี 59 ยอดใช้พลังงานโต 1.1% ตาม GDP ,ยอดใช้ไฟโตสวนทางเชื้อเพลิงก๊าซฯลด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2016 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การใช้พลังงาน 9 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.-ก.ย.) ในภาพรวมคาดว่ามีการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโต 4.9% สวนทางการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าที่กลับหดตัวลง 1% หลังซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้าระบบ และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เติบโต 4.8% จากราคาพลังงานที่ลดต่ำลง โดยยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ตลาดดูไบ ในปีนี้จะอยู่ในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

"การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่การใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าค่อนข้างทรงตัว ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่ในปีนี้มีโรงไฟฟ้าหงสาจากลาวเข้าระบบเต็มโครงการ แม้ในช่วงต้นปียังมีความขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ภาพรวมการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านก็เพิ่มขึ้น และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้น แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็ยังไม่เท่ากับที่คาด ตามแผนเดิมเราคาดว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาเป็นกอบเป็นกำมากกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นโซลาร์ฟาร์ม ที่ plant factor ต่ำ"นายทวารัฐ กล่าว

นายทวารัฐ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบในปีนี้ในแง่ของกำลังการผลิตติดตั้งยังเป็นไปตามเป้าหมาย แต่เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเดิมคาดว่าจะมาจากทั้งชีวมวล ชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ แต่โครงการส่วนใหญ่มีความล่าช้า ทำให้มีเพียงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่เข้าระบบในปีนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิต (Plant Factor) ต่ำกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่น ขณะที่ในปีหน้าก็คงจะมีเพียงโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ราว 281 เมกะวัตต์ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเท่านั้น

อย่างไรก็ตามแม้ในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอย่างกัมพูชา ที่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมถึงความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศ ก็จะยังไม่เป็นอุปสรรคให้ต้องปรับพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP2015) เนื่องจากไทยยังมีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าอยู่ โดยปัจจุบันมีปริมาณสำรองไฟฟ้าในระดับราว 30-35% แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังติดตามความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

          สำหรับความต้องการใช้พลังงานประเทศในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ พบว่ามีความต้องการใช้พลังงานอยู่ที่ 2,105 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน แบ่งเป็น การใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 4.8% จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แม้จะเริ่มปรบตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีความต้องการใช้ในระดับสูง เช่นเดียวกับการใช้ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 7.4% จากการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
          ด้านการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 22.2% เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 3 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือนมี.ค.
          ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 43% ของการใช้พลังงานขั้นต้นทั้งหมด มีการใช้ลดลง เนื่องจากในช่วงต้นปีแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ และแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย (เจดีเอ) หยุดซ่อมบำรุงในเดือนส.ค. ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในระบบลดลง
          สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าอยู่ที่ระดับ 4,726 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ลดลง 1.0% โดยเป็นการลดลงเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดลง 1.3% เนื่องจากในช่วงที่เมียนมาหยุดจ่ายก๊าซ โรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้าแทน การใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงแยกก๊าซ ลดลง 1.4% และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 8.6% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 57 ทำให้ผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทน NGV
          ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้า ช่วง 9 เดือนแรกคาดว่ามีการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 137,424 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.9% โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาคส่วน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) รอบปัจจุบัน เดือนก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่อัตรา -33.269 สตางค์/หน่วย คงที่เท่ากับช่วงก่อนหน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้าและรองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในต้นปีหน้า
          ขณะที่การใช้น้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าอยู่ที่ระดับ 137 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 4.8% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเกือบทุกประเภทตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปสำคัญ มีการใช้เพิ่มขึ้น 12.1% และ 4.1% ตามลำดับ ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อยู่ที่ระดับ 503 พันตัน/เดือน ลดลง 10.8% โดยลดลงในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้ในภาคปิโตรเคมี ลดลง 20.6% เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเปลี่ยนไปใช้แนฟทาในการผลิตปิโตรเคมีแทน LPG ส่วนภาคขนส่ง ลดลง 15.6% เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันที่มีราคาถูกลง ด้านการใช้ในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการใช้สูงสุด มีการใช้ค่อนข้างคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% ทั้งนี้ความต้องการใช้ LPG ที่ลดลงอย่างมากส่งผลให้การนำเข้า LPG ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 58
          “สำหรับดัชนีชี้วัดด้านพลังงาน พบว่า ดัชนีชี้วัดความมั่นคงด้านพลังงาน และดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ขณะที่ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลกระทบให้มีการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น สนพ. จึงยังคงขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยล่าสุดได้มีกิจกรรม ชีวิตหาร 2 ลดครึ่งใช้ครึ่ง ประหยัดชัวร์ อีกหนึ่งแคมเปญที่จะมาช่วยปลุกกระแสประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานไทย"นายทวารัฐ กล่าว
          นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบนั้น คาดว่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยยังต้องจับตาทิศทางการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซียในคืนนี้ ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุการตรึงกำลังการผลิตได้ก็จะทำให้ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับราว 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปัจจุบัน ขณะที่ยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงเดือนพ.ย.ด้วย เพราะจะมีผลต่อตลาดการเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
          ส่วนสถานการณ์ราคา LPG นั้น ราคาในตลาดโลกสำหรับเดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 340 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค.ที่อยู่ระดับ 305 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ราคาขายปลีก LPG ในประเทศสำหรับเดือนต.ค.จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ในต้นเดือนต.ค.นี้ก่อน ขณะที่ราคา LPG ล่าสุดของเดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 20.29 บาท/กิโลกรัม ส่วนนโยบายการเปิดเสรีนำเข้า LPG นั้นขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางปฏิบัติหากเปิดเสรีแล้วเอกชนไม่ทำตามสัญญา
          ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานลม หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม เหลือระดับ 4.12 บาท/หน่วย เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีต้นทุนลดลงเช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ