ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพิ่มอำนาจส.ป.ก.บริหารจัดการที่ดิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2016 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินที่ใช้มาเกือบ 40 ปีเต็มเพื่อให้ทันสมัย สามารถให้บรริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดีขึ้น ตอบโจทย์ได้ตรงขึ้น และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของประชาชนรวมถึงรักษาที่ดินทำการเกษตรไว้ให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการแก้ไขรวม 13 ประเด็นใน 12 มาตรา โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 คือ ส.ป.ก.จะมีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินที่อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน จากอดีตที่ ส.ป.ก.จะมีอำนาจดูแลได้เฉพาะพื้นที่ในเขตปฏิรูปเท่านั้น ซึ่งประชาชนที่อยากขายที่ดินสามารถขายให้กับส.ป.ก.ได้ เมื่อได้มาแล้วสามารถจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้ประชาชน เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินได้

ประเด็นที่ 2 คือ เดิมร่างพ.ร.บ.มีข้อจำกัดเรื่องการใช้เงินกองทุนเพื่อการปฏิรูปเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่บางส่วนและเงินจากส่วนอื่นที่ไหลเข้ามา ซึ่งในอดีตไม่สามารถใช้เงินกองทุนในการชดเชยที่ดินของเกษตรกรในเขตปฏิรูปได้ แต่หลังการปรับปรุงจะทำให้สามารถนำเงินกองทุนฯไปใช้ชดเชยที่ดินของเกษตรที่ไม่อยากทำการเกษตรแล้วและอยากคืนที่ดินให้ส.ป.ก.ได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเงินเหลือใช้เป็นสภาพคล่องเหลือประมาณ 1 พันล้านบาทที่สามารถใช้ดำเนินการในช่วงสั้นๆนี้ได้ก่อน

ประเด็นที่ 3 คือ ในการปฏิรูปกฎหมายครั้งนี้ ยังให้อำนาจคณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในการจำแนกเขตที่ดินตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ว่าที่ดินส่วนไหนจะเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินส่วนใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ถนน น้ำ หรือเป็นที่ดินเพื่อการอื่นๆ เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ สาธารณูปโภคต่างๆ และยังเอื้อให้ทายาทโดยธรรมสามารถรับกรรมสิทธิ์ของที่ดินส.ป.ก.ต่อไปได้แม้ว่าทายาทโดยธรรมจะไม่ได้เป็นเกษตรกรก็ตาม แต่เมื่อรับกรรมสิทธิ์ไปแล้วต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 50 ไร่สำหรับเกษตรกรรมทั่วไป ถ้าเลี้ยงสัตว์สามารถมีพื้นที่ได้ไม่เกิน 100 ไร่ แต่ถ้าเป็นสหกรณ์การเกษตรสามารถมีพื้นที่ได้ไม่จำกัด

ประเด็นที่ 4 คือ กำหนดเรื่องของกฎเกณฑ์ การฝ่าฝืนไว้ด้วยว่า เมื่อทายาทโดยธรรมได้รับที่ดินไปแล้ว หากใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือวัตถุประสงค์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหรือผู้ที่กรรมการมอบหมาย และถ้ามีการฝ่าฝืน คณะกรรมการสามารถสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนรื้อถอนทำให้ที่ดินคืนสู่สภาพเดิม หรืองดเว้นการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกันถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 30 วัน ก็สามารถรื้อถอน หรือทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ