ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปี 60 ส่งออกไทยไป EU โตแต่ 1% จากผล Brexit-การเมืองยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2017 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) ในปี 60 ยังคงเติบโตเชื่องช้า เนื่องจากการเริ่มกระบวนการ Hard Brexit ซึ่งเป็นรูปแบบการถอนตัวที่กดดันให้ธุรกิจในอังกฤษต้องปรับตัวค่อนข้างมาก อาจเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองในยุโรปและนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในยุโรปในระยะข้างหน้า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจ EU ปี 60 จะขยายตัว 1.6% (กรอบประมาณการ 1.4 - 1.8%) ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า Hard Brexit และผลการเลือกตั้งไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจมากนัก

เมื่อมองมาที่การส่งออกของไทยไป EU ในปี 60 อาจยังคงมีภาพที่อ่อนแอ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ Brexit ในช่วงครึ่งหลังของปี 59 ส่งผลให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ผันผวน บวกกับเศรษฐกิจ EU ที่ซบเซา ส่งผลให้การส่งออกของไทยไป EU ตลอดปี 59 อาจมีอัตราการเติบโตใกล้เคียง 0% หรือมีมูลค่าการส่งออกใกล้เคียง 22,000 ล้านดอลลาร์ฯ และส่งผลต่อเนื่องมาถึงปี 60 ซึ่งภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ EU ข้างต้น การส่งออกของไทยไป EU ในปี 60 อาจเติบโตในระดับต่ำเพียง 1.0% หรือมีมูลค่าการส่งออก 22,220 ล้านดอลลาร์ฯ โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วง 0-2.0% โดยมีมูลค่าการส่งออก 22,000-22,440 ล้านดอลลาร์ฯ

แม้ถ้อยแถลงของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะสะท้อนรูปแบบของการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปโดยเด็ดขาด (อังกฤษจะหลุดออกจากระบบตลาดเดียว หรือ Single Market และระบบศาลยุติธรรมของ EU เพื่อให้อังกฤษมีอำนาจเต็มในการออกและบังคับใช้กฎหมายของประเทศ และสามารถควบคุมการเข้าประเทศของประชาชนที่มาจาก EU) อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นที่ตลาดการเงินให้ความสนใจมากกว่า กลับเป็นเรื่องความชัดเจนในรายละเอียดของแผน Brexit ที่จะมีการดำเนินการต่อจากนี้ และยิ่งไปกว่านั้น คือ แผนนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งอาจช่วยทำให้แรงกดดันต่างๆ ลดน้อยลงไปได้บางส่วน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถ้อยแถลงของนางเมย์ในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของประเด็น Brexit ซึ่งคาดว่า จะมีอีกหลายตัวแปรและจังหวะเวลาที่อาจกลายมาเป็นจุดที่พลิกผันให้กับเรื่องนี้ได้ ทั้งความซับซ้อนในการเจรจาข้อตกลงต่างๆ กับ EU รายละเอียดของแผน Brexit ขั้นสุดท้ายที่จะส่งเข้ารัฐสภาอังกฤษ ตลอดจนมติความเห็นชอบของรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเท่ากับว่า การที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นได้ถึง 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัญญาณ Hard Brexit จากนางเมย์ น่าจะเป็นเพียงแค่การฟื้นตัวในระยะสั้น (จากที่เงินปอนด์เผชิญแรงเทขายในช่วงก่อนหน้านี้) และเงินปอนด์ยังมีโอกาสที่จะผันผวน และเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าลงได้อีกในระยะข้างหน้า

"กระบวนการ Hard Brexit ซึ่งเป็นรูปแบบการถอนตัวที่กดดันให้ธุรกิจในอังกฤษต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองใน EU และนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ EU ในระยะข้างหน้า"

สำหรับตลาดการเงินไทยแล้ว แม้จุดสนใจหลักๆ ในปีนี้ น่าจะเป็นเรื่องอื่น อาทิ จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สถานการณ์ค่าเงินหยวน ผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความคืบหน้าในประเด็น Brexit ความเปราะบางของภาคธนาคารในยุโรป และตารางเวลาการเลือกตั้งของหลายๆ ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพยุโรปที่ยังเต็มไปด้วยความท้าทายตลอดทั้งในปี 60 และมีผลต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยธุรกิจไทยอาจต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับการผลิตรูปแบบใหม่ของ EU ที่ก้าวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน แต่ส่งผลให้การผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับ EU ต้องเร่งปรับตัวตาม โดยบางสายการผลิตอาจถูกลดบทบาทจากการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ หรือบางสาขาการผลิตอาจต้องปรับการผลิตให้ได้คุณภาพสูงขึ้นเพื่อให้สินค้ามีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตรูปแบบใหม่ได้ ดังนั้น สินค้าไทยต้องทยอยปรับกระบวนการผลิตให้เข้าสู่แนวทางเดียวกับยุโรปเพื่อรักษาตลาดนี้ ทั้งยังสามารถทำตลาดอื่นได้อีกในระยะต่อไป

สำหรับตลาดที่คาดว่าจะยังไปต่อได้ในปี 60 ด้วยความแข็งแกร่งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน โปแลนด์ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค ไอร์แลนด์ และสวีเดน สำหรับตลาดที่เผชิญปัจจัยแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอาจต้องเฝ้าระวังในปีนี้ ได้แก่ สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม

ด้านสินค้าที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี ในปี 60 เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High-end) และพึ่งพาตลาดยุโรปค่อนข้างมาก ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา สินค้าเทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋อง อาหารสุขภาพ อาหารสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงกลุ่มสินค้าอย่างเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า รถจักรยานยนต์ เลนส์ ส่วนประกอบอากาศยาน เครื่องใช้สำหรับการเดินทาง อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจ EU อ่อนแรงกลุ่มนี้ก็ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบเช่นกัน

ในระยะต่อไป การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจใน EU จะปรากฏชัดขึ้นเมื่ออังกฤษเริ่มกระบวนการ Hard Brexit เพื่อแยกตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม 60 ถ้าหากแนวทางการแยกตัวของอังกฤษจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในยุโรปปี 60 ที่นำไปสู่การแยกตัวออกจาก EU ลุกลามมากขึ้น ไม่เพียงเศรษฐกิจที่มีปัญหาแต่จะยิ่งผลักดันให้ภูมิภาคนี้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งธุรกิจไทยต้องปรับตัวหลายด้าน

ดังนั้นธุรกิจไทยควรเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจของ EU บวกกับบทบาทที่ลดลงของ FTA แบบพหุภาคีซึ่งยากจะเกิดในระยะอันใกล้ เป็นภาพสะท้อนจากการเกิด Brexit และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปในระยะต่อไป ที่อาจทำให้กรอบการค้าเสรี (FTA) ของ EU ทั้งที่บังคับใช้แล้วและ FTA ที่ EU กำลังเจรจาอาจเปลี่ยนไป แม้ไทยจะไม่มีข้อตกลง FTA กับ EU โดยตรง แต่ในด้านหนึ่งเอื้อประโยชน์ให้การผลิตและส่งออกสินค้าจากไทยมีเวลาในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพสินค้าเพื่อจับตลาด EU ระหว่างที่คู่แข่งสินค้าไทยยังไม่มีแต้มต่อทาง FTA ขณะเดียวกัน การออกไปลงทุนในต่างประเทศนักลงทุนไทยอาจต้องพิจารณาเหตุผลด้านอื่นอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น นอกเหนือจากการคาดหวังสิทธิประโยชน์จาก FTA เข้ามาประกอบการตัดสินใจลงทุนในประเทศที่ 3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ