UOB แนะจับตานโยบาย"ทรัมป์"อาจกระทบความเชื่อมั่น, เชื่อศก.ไทยปีนี้ฟื้นจากลงทุนรัฐ-เอกชนขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2017 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมานพ อุดมเกิดมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนักลงทุนสัมพันธ์ ธนาคารยูโอบี(ไทย) เปิดเผยว่าภาวะเงินทุนระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงผันผวนในปีนี้จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว และทิศทางการเมืองในสหรัฐฯและยุโรป การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน และความมั่นใจของนักลงทุน

"เรายังต้องติดตามนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้าพิธีสาบานตนในวันศุกร์นี้ แต่ยังเชื่อว่าปีนี้สหรัฐฯจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้ง ในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ไตรมาสละ 1 ครั้ง ซึ่งในไตรมาสแรกยังมองว่าเฟดจะยังรอดูการดำเนินนโยบายของทรัมป์ก่อน"นายมานพ กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ภาครัฐจะต้องลงทุนขนาดใหญ่ให้ได้ตามเป้าหมาย และในช่วงจัดการเลือกตั้งที่ตั้งเป้าให้เกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 60 แต่เรามองในระยะยาวเศรษฐกิจมีโอกาสโตได้อย่างมีศักภาพที่ 5% หากภาครัฐขับเคลื่อนการลงทุนที่ชัดเจน แต่จะต้องพึ่งการลงทุนภาคเอกชนประกอบไปด้วย ซึ่งหากการลงทุนรัฐขยายตัว 1% จะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 0.01%

ทั้งนี้ มองแนวโน้มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 60 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จากปี 59 ที่ขยายตัว 3.2% ซึ่งมีมุมมองว่ารัฐบาลจะยังคงใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายในปีนี้เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศมีมากขึ้น โดยทางรัฐบาลได้ให้ความมั่นใจในการเร่งการก่อสร้างโครงการภายใต้แผนงานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในปี 60 และปี 61 ซึ่งจะข่วยสร้างคลัสเตอร์การผลิตสินค้าเป้าหมายที่มีเทคโนโลยีสูงใน 10 อุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ และ บริการทางการแพทย์ ส่งผลให้ขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

อีกทั้งระดับรายได้ในเขตนอกกรุงเทพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการสาธารณูปโภคของประเทศผ่านโครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งมวลชน มอเตอรเวย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทยที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นเป็นอีกช่องทางในการระดมทุนในโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของประเทศ

"หากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลคืบหน้าได้ดี ความมั่นใจภาคธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น การลงทุนในโครงการดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นในปีนี้ ได้ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงจะหนุนการลงทุนภาคเอกชนด้วยเช่นกัน แม้ว่าการใช้กำลังการผลิตที่ยังต่ำจะเป็นตัวฉุดในบางอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ปัจจัยลบที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจฉุดการส่งออกสินค้า ภาคการส่งออกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการอุปโภคบริโภคจะเติบโตจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นพร้อมการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ แนวโน้มเหล่านี้น่าจะทำให้รายรับรวมจากภาคการค้าสินค้าและบริการของเศรษฐกิจไทย หรือดุลบัญชีเดินสะพัดมีผลสุทธิเป็นบวกเล็กน้อยในปีนี้"นายมานพ กล่าว

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ในการประชุมเมื่อเดือน พ.ย.59 และ ย้ำว่านโยบายการเงินควรที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างเพียงพอ โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาวของเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ซึ่งคาดว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมตลอดปี 60 เพราะนโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีความผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนเงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 1.5% จากปีก่อนที่ 0.3%โดยการที่เงินเฟ้อมีการเร่งตัวเพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันในตลาดโลกจะมีแนวโน้มผันผวนสูงด้วยเช่นกัน ทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นจะมีผลจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงสร้าง และธนาคารแห่งประเทศไทยควรเตรียมนโยบายการเงินให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะลดทอนความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้คาดว่าจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการที่อัตราดอกเบี้ยไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จึงคาดค่าเงินบาทจะอ่อนค่าอยู่ที่ 37.00 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ หรืออ่อนค่าลง 3% จากสิ้นปีก่อนที่ 35.65 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินจะเริ่มทยอยอ่อนค่าตั้งแต่ไตรมาส 1/60 เป็นต้นไป คาดว่าสิ้นไตรมาส 1/60 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 36.30 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ