นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐกระตุ้นศก.ผ่านการลงทุนภาคเอกชน เดินหน้ากองทุนมั่งคั่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2017 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในวงเสวนา "เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน"ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน คือ ภาครัฐจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิม หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว แต่ควรจะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีเงินออม ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ ภาครัฐจะต้องเดินหน้าเรื่องของสาธารณูปโภค และต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าสิ่งใดรัฐจะทำเองหรือสิ่งใดจะให้เอกชนดำเนินการ

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรจะต้องคิดเรื่องของกองทุนมั่งคั่งให้ชัดเจน ซึ่งจากการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ และบริหารโดยมืออาชีพ รวมถึงตั้งเป้าเอาผลตอบแทนเป็นหลัก และปลอดการเมืองอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญอีกประการที่พอจะทำได้ คือ การส่งสัญญาณบางอย่างให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย จากปัจจุบันที่ทั่วโลกเริ่มเกิดปัญหาจากการที่คนยึดผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ส่งสัญญาณให้ทั่วโลกทราบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับเอกชนเป็นหลัก น่าจะทำให้ไทยมีความชัดเจนในนโยบายมากขึ้น

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 3.2% ซึ่งจะเป็นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการสนับสนุนภาครัฐ และถ้าหากมีการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ก็น่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการส่งออกก็น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักในปีนี้จะมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

"เสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินปีนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ เงินเฟ้อก็ต่ำ ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) โดยรวมยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้" นายดอนกล่าว

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย บล.ภัทร มองว่า ปี 60 เป็นปีแห่งความผันผวน และเป็นจุดเปลี่ยนของหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผ่านมาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาพอสมควร ส่งผลต่อความเสี่ยงของการลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของทิศทางนโยบายของแต่ละประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ไทย ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นต้น โดยจะเห็นว่าสหรัฐฯ ต้องการทำให้อัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความกังวล แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ กระตุ้นโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาวะที่จะเห็นในอนาคต คือ ภาวะที่กระตุ้นผ่านนโยบายการเงินอาจจะพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว จากที่สหรัฐฯ หยุดการทำ QE, ยุโรปชะลอการทำ QE ลงมาแล้ว และญี่ปุ่นก็มีการเปลี่ยนนโยบายการทำ QE ไปแล้ว โดยภาพที่จะเห็นในปีนี้และปีถัดๆ ไปจะเป็นภาพอีกภาพหนึ่งที่จะไม่มีคนมาช่วยกระตุ้นอย่างหนักแบบที่ผ่านมา อีกทั้งยังต้องจับตาในเรื่องของ BREXITการเมืองในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในเยอรมนี, ฝรั่งเศส รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ว่าจะออกมาอย่างไร

สำหรับประเทศไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่น้อยลง จากในอดีตเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ราว 7% ขณะที่ปัจจุบันเติบโต 3% โดยเฉลี่ย ซึ่งอาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่มากกว่าความผันผวนในระยะสั้น ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ดีที่สุดของโครงสร้างของประชากรไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระดับ 7% ได้

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์ของไทยในระยะยาวและเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือ ภาวะโครงสร้างของประชากร หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ประชากรจะต้องลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะแรงงานที่กำลังจะลดลงในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

พร้อมกันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การลงทุนของภาคเอกชนที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร หรือแรงงานให้มากขึ้น ซึ่งมองว่าอาจจะเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคต รวมถึงภาครัฐควรจะมีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และมีการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง และมีการปฎิรูปภาครัฐให้มีขนาดที่จำกัดขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรบุคคล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ