(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ยันปรับขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อให้เกิดความยุติธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ ยันฐานะเงินคงคลังไม่มีปัญหา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2017 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ยืนยันว่า ฐานะการคลังของประเทศไม่ได้มีปัญหา ซึ่งเงินคงคลังที่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา นั้นไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลที่รัฐปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินอย่างแน่นอน โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ถังแตกจนต้องปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตดังกล่าว

"เงินคงคลังที่ลดลง 7 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นเรื่องจริง แต่เป็นไปตามนโยบายที่เพิ่งได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะรับได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยจากที่ต้องกู้เงินคงคลังมาไว้โดยที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เกิดภาระค่าดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันเงินคงคลังที่ระดับ 1 แสนล้านบาทต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ระดับ 2 พันล้านบาท"

อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางได้เสนอตัวเลขออกมาว่า เงินคงคลังควรอยู่ที่ระดับ 50,000-100,000 ล้านบาท โดยระดับเงินคงคลังที่ 1 แสนล้านบาทจะอยู่ในช่วงก่อนการจ่ายเงินเดือน และค่าสวัสดิการต่างๆ แต่เมื่อจ่ายไปแล้วระดับเงินคงคลังจะเหลืออยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท

"หลักการเรื่องเงินคงคลัง เราจะเตรียมเงินไว้ใช้ล่วงหน้าประมาณ 2 สัปดาห์ และยืนยันว่าฐานะการคลังของประเทศไม่ได้มีปัญหา เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ประเทศจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินอีกมาก เรายังมีวงเงินกู้ short term อีกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ที่ยังไม่ได้ใช้ และในปีงบที่ผ่านมา เราขาดดุลที่ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งได้มีการกู้จริงเพียงแสนล้านบาท ทำให้มีเงินกู้ในส่วนนี้รวมแล้วเกือบ 3 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเพียงพอรองรับการใช้เงินของประเทศแน่นอน" นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมจะแก้ไขกฎหมายเงินคงคลัง ในส่วนของการกู้เงินให้สามารถกู้ได้ตามความจำเป็น โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาการกู้เงิน ส่วนการกู้เงิน Short term นั้น ก็จะมีการกำหนดเพดานการกู้เงินให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในส่วนของภาษีที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเงินคงคลังได้

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า แม้ว่ากระทรวงการคลังจะยืนยันว่าฐานะการคลังไม่ได้มีปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีตัวอื่นๆ แต่การปรับขึ้นภาษีในแต่ละส่วนนั้น จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม หรือดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อยู่แล้ว เช่น ภาษีเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในส่วนนี้มีการศึกษาไว้อยู่แล้ว หลักการคือ เพื่อให้ลดการใช้น้ำตาล และเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องคุยกันอีกหลายครั้ง เพราะมีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง

"กระทรวงสาธารณสุขอยากให้ประชาชนมีสุขภาพดี แต่เกษตรกรก็กังวลผลกระทบที่จะตามมา ส่วนโรงงานก็กังวลเรื่องความต้องการในตลาดน้ำตาล ตรงนี้กระทรวงคลังรับมาคุยทั้งหมด และต้องหาจุดที่จะตกลงกันให้ได้ โดยก่อนหน้านี้สมาคมผู้ผลิตฯ ได้รับข้อเสนอว่าอยากให้ลดการใช้น้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตลง จึงอยากขอเวลาในการปรับตัว จากเดิมที่ขอเวลา 5 ปี แต่กระทรวงคลังมองว่านานเกินไป ขอให้เหลือ 2 ปี แต่คงต้องมาคุยกันก่อนว่าโมเดลที่ใช้ควรเป็นอย่างไร โดยหลักการเบื้องต้นจะกำหนดว่า ผู้ประกอบการที่ลดปริมาณน้ำตาลในการผลิตได้ ก็ควรเสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ไม่สามารถลดได้" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นเพื่อสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากภาษีน้ำมันไม่ได้มีการปรับขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ในขณะที่ภาษีน้ำมันประเภทอื่นมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ 3-6 บาท/ลิตร ดีเซลอยู่ที่ 5 บาท/ลิตร ซึ่งมองว่าจะไม่เป็นธรรม

ส่วนคำถามที่ว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยสารเครื่องบินแพงขึ้นนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในส่วนนี้อยากให้มองว่าการเดินทางโดยรถบขส.ที่ใช้น้ำมันดีเซลนั้น ผู้โดยสารต้องเสียภาษีลิตรละ 5 บาท ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยแต่กลับต้องแบกภาระภาษีน้ำมันค่อนข้างมาก สวนทางกับผู้ที่เรียกตัวเองว่ามีรายได้สูง เดินทางด้วยการโดยสารเครื่องบิน แต่เสียภาษีน้ำมันเพียง 20 สตางค์/ลิตร ดังนั้นตรงนี้จึงมีความชัดเจนว่ารัฐบาลทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการขึ้นภาษีน้ำมันนี้ทำให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น อาจจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ในขณะที่รัฐบาลพยายามจะกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น รมว.คลัง ถามกลับว่าแล้วคนที่มีรายได้น้อยไม่ท่องเที่ยวหรืออย่างไร อยากให้เข้าใจตรงนี้ด้วย

รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ม.ค.60 ให้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศ จากเดิมอัตราภาษีตามมูลค่า 1% หรืออัตราตามปริมาณ 0.20 บาท/ลิตร เป็นอัตราภาษีตามมูลค่า 23% หรือตามปริมาณ 3 บาท/ลิตร และให้เพิ่มประเภทสินค้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในหมวดน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันหล่อลื่นในอัตราตามปริมาณในอัตรา 5 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันหล่อลื่นเหลว และ 5 บาท/กิโลกรัม สำหรับน้ำมันหล่อลื่นไม่เหลวนั้น

เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศไม่มีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ในขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ มีการปรับอัตราภาษีหลายครั้งเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ส่งผลให้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศมีอัตราที่ต่ำกว่าภาษีเชื้อเพลิงในภาคการขนส่งประเภทอื่นๆ เช่น ทางบก ทางรถไฟ หรือทางน้ำ ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในพาหนะ และต่ำกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ไม่ได้ใช้เป็นเชื้อเพลิงของอากาศยาน

ดังนั้น เพื่อป้องกันการใช้น้ำมันผิดประเภท และเพื่อสร้างความเป็นธรรมในภาคการขนส่งประเภทต่างๆ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสะท้อนต้นทุนมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง จึงเห็นควรปรับอัตราภาษีให้เหมาะสม ซึ่งจากการปรับอัตราภาษีครั้งนี้ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,200 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ น้ำมันหล่อลื่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาการกลั่นน้ำมันดิบเช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา และจากการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยในอดีตกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันหล่อลื่นในอัตรา 5% และได้ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันหล่อลื่นในปี 2535 เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทน และเนื่องจากน้ำมันหล่อลื่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และการได้มาซึ่งน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกับน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดอื่นๆ ที่กรมสรรพสามิตได้มีการจัดเก็บภาษีอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่นเช่นเดียวกับการจัดเก็บในอดีต แต่ให้มีการจัดเก็บภาษีตามอัตราตามปริมาณในอัตรา 5 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันหล่อลื่นเหลวหรือน้ำมันที่คล้ายกัน และน้ำมันหล่อลื่นที่ทำจากน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว และในอัตราตามปริมาณ 5 บาท/กิโลกรัม สำหรับน้ำมันหล่อลื่นไม่เหลวหรือน้ำมันที่คล้ายกัน (จารบี) ซึ่งจากการปรับอัตราภาษีครั้งนี้ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,400 ล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ