ครม.ไฟเขียวแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อช่วยเกษตรกร-SME ประสบอุทกภัยภาคใต้กว่า 3 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2017 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ดำเนินโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หารือกับกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพของลูกค้า ธ.ก.ส. โดยสามารถนำเงินที่ได้รับการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 212,850 ราย

สำหรับการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการขยายเวลาการชำระคืนต้นเงินกู้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.59 ออกไปอีกไม่เกิน 2 ปี โดยไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง แต่เกษตรกรจะต้องชำระดอกเบี้ยที่มีก่อนวันที่ 1 ม.ค.60 ตามปกติ และส่วนที่สองเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้เป็น NPL จะงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60-31 ธ.ค.61 สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ในอัตรา 5% ต่อปี หรือคิดเป็นเงินราวปีละ 1,965.5 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.จะรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกค้า 2% ต่อปี และ 2.กรณีเกษตรกรที่เป็น NPL ธ.ก.ส.จะแบกรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกค้าทั้งหมด โดยงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้อนุญาตให้ ธ.ก.ส.บรรจุค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไว้ในบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจ่ายโบนัสให้พนักงาน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพิ่มเติมตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง

โดย ธ.ก.ส.มี 2 มาตรการ คือ การให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าราว 2 แสนราย ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ต่อปี) วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.จะไม่ขอรับชดเชยดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน อีกมาตรการคือการให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิต 5 หมื่นราย รายละไม่เกิน 3 แสนบาท ระยะเวลาไม่เกิน 10ปี โดย 4 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2 ซึ่งจะคิดจากเกษตรกร 2% ต่อปี และรัฐชดเชย 3% ต่อปี หลังจากปีที่ 5 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท แต่จะขอรับเงินชดเชยจากรัฐไม่เกิน 1,200 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารออมสินมี 2 มาตรการ คือ โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยปีแรกปลอดดอกเบี้ย หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน โดยสามารถใช้บุคคลหรือ บสย.ค้ำประกันได้ วงเงินสินเชื่อ 4 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินจะไม่ขอรับชดเชยดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน อีกมาตรการคือโครงการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยให้สินเชื่อเพิ่มอีก 10% ของวงเงินสินเชื่อเดิม สูงสุดรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยปีแรกคิดดอกเบี้ย MLR-2 (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.5% ต่อปี) หลังจากนั้นจะคิดดอกเบี้ยที่ MLR วงเงินสินเชื่อ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินจะไม่ขอรับชดเชยดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน

ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี โดยปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ย 3% หลังจากนั้นตามที่ ธพว.กำหนด วงเงินสินเชื่อ 5 พันล้านบาท โดยขอรับชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐ 3% ต่อปี หรือไม่เกิน 825 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ