ภาครัฐเร่งลดอุปสรรคเอื้อลงทุน ฟากเอกชนมองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เดินถูกทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2017 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาครัฐพร้อมพลิกโฉมประเทศไทยด้วยการลงทุน ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เร่งปฏิรูปกระบวนการการขออนุญาต ร่นระยะเวลาเพื่อให้ภาคธุรกิจเกิดความสะดวกในการลงทุนได้รวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชน มองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เดินถูกทาง เร่งพัฒนาบุคลากร งานวิจัยรองรับ พร้อมแนะภาครัฐออกกฎหมายเอื้อต่อการทำธุรกิจและตั้งรับปัญหาเงินฝืดในอนาคต

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ "พลิกโฉมประเทศไทยด้วยการลงทุน"ว่า ปัจจุบันไทยมีการปฏิรูปกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคและปัญหาในอดีต ซึ่งช่วยให้การเข้ามาลงทุนเกิดความรวดเร็ว

"การปฏิรูประบบราชการจะเป็นเรื่องต้นๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการจัดอันดับความน่าลงทุนของไทยโดยเวิลด์แบงก์ในปีก่อนที่มีอันดับดีขึ้นกว่าเดิมใน 3 รายการ คือ การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ดีขึ้นกว่าเดิม 18 อันดับ, การเข้าถึงสินเชื่อดีขึ้นกว่าเดิม 15 อันดับ และการแก้ปัญหาล้มละลายดีขึ้นกว่าเดิม 26 อันดับ"

สำหรับแนวทางการลงทุนใหม่นั้นจะต้องให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจโลกได้

ด้านนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในหัวข้อ "สร้างประเทศไทย 4.0 ให้เป็นจริงได้อย่างไร"ว่า รัฐบาลปัจจุบันมีความเข้าใจและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศและมั่นใจว่าจะทำสำเร็จ แต่จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถรองรับด้วย และทุกคนต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีรองรับการลงทุน และรัฐบาลควรมีการออกกฏหมายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ ซีพีจึงกำลังเปลี่ยนแปลงบริษัทในเครือ เพื่อรองรับยุค 4.0 โดยเชื่อว่าแนวนโยบายรัฐบาลนี้จะมีส่วนช่วยดึงดูดคนเก่งๆเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และเชื่อว่า อีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยมีโอการ่ำรวยขึ้น และมีรายได้ต่อคนต่อหัวเทียบเท่าสิงคโปร์ได้

"ยุคนี้ถือเป็นยุคของคนหนุ่มสาว มีความคิดนอกกรอบ ซึ่งซีพีกำลังสร้างศูนย์ฝึกผู้นำไม่ต่ำกว่า 2,000 คนต่อปี รองรับธุรกิจบริการ และสร้างคนที่เก่งๆและสินค้าใหม่ๆกระจายไปทั่วโลก และถือว่าเป็นยุคของสตาร์ทอัพ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของโลก"

อีกทั้งมองว่า สินค้าที่เข้าสู่ยุค 4.0 จะเหลือล้นไม่ใช่ขาดแคลน ปัญหาเงินเฟ้อไม่เกิดแต่จะกลายเป็นปัญหาเงินฝืดแทน ซึ่งถือเป็นการบ้านของรัฐบาลต้องรับมือปัญหาดังกล่าว เนื่องจากสินค้ามากกว่าเงิน

"คนทำงานน้อยแต่ได้รับผลตอบแทนหลายร้อยเท่า ต่อไปนี้พนักงานขายมีหลายช่องทางต้องเปลี่ยนแปลง เพราะหันไปขายของบนออนไลน์มากขึ้น และหากบริษัทไหนปรับตัวไม่ทันอาจล้มละลายได้ แต่เชื่อว่ายังเห็นโอกาสมากกว่าวิกฤติ"

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มการส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนา ต้องมีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง โดย SCG ได้เริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาและวิจัย จึงทำให้ในปีก่อนมีงบด้านวิจัย 4,300 ล้านบาท ผ่านนักวิจัยระดับ ดร. 1,823 คน จึงได้ทำให้กำไรสุทธิ์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในปี 58 การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของไทยมีเพียง 0.6 % ต่อจีดีพี มีนักวิจัยเฉลี่ย 12-13 คนต่อบุคลากร 10,000 คน ซึ่งถือว่ายังน้อยมากหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ให้ความสำคัญและทุ่มงบด้านวิจัยและพัฒนาสูงมาก

นายกานต์ กล่าวว่า เรื่องการวิจัยและพัฒนามีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่นอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุน แต่ต้องมีการส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้วย ซึ่งมาตรการของบีโอไอก็ให้สิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทที่สนใจลงทุนในเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าที่อื่นในโลก

นาย Pierre Jaffre ประธานบริษัท แอร์บัส ประจำภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิก กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะบริษัทฯ มี Sub contract อยู่หลายราย ตนเองเชื่อว่ายังมีเทคโนโลยีอีกมากที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ ดังนั้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นับว่าเป็นการเดินมาถูกทางแล้ว

สำหรับอุตสาหกรรมการบิน มีการนำดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ในทุกภาคส่วน เช่น การออกแบบที่สามารถทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับทีมวิศวกรที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าเชื่อว่าอุตสาหกรรมการบินจะพัฒนาไปอีกมาก

"สถานการณ์ในขณะนี้มีความเหมาะสมมากสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากรัฐบาลเปิดโอกาสและมีมาตรการส่งเสริมมากมาย"

นาย Kaoru Kurashima รองประธาน บริษัท อายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มุ่งสร้างค่านิยมร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคมที่เข้าไปลงทุน โดยเป็นกิจการด้านโภชนาการเพื่อพัฒนาประชากรของไทย

โดยล่าสุด บริษัทฯ เตรียมเสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนด้านโภชนาการให้กับนักกีฬาไทยด้วยนำกรดอะมิโนมาใช้เป็นอาหารเสริมสร้างร่างกาย เพื่อให้นักกีฬาไทยสามารถชนะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นญี่ปุ่นมากขึ้น, โครงการก่อสร้างโรงอาหารในชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านโภชนาการ, โครงการดูแลผู้สูงอายุที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และโครงการดูแลโรคผู้สูงอายุ

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล นอกเหนือจากมีทีมนักวิจัยและพัฒนาจากญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยต่อไป และใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพส่งออกไปยังตลาดโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ