"กอบศักดิ์-เลขาฯสภาพัฒน์"เผยรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-โลจิสติกส์เชื่อมโยอาเซียนเสริมศักยภาพไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2017 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ "ภาพรวมลึกเศรษฐกิจอาเซียนและตัวแปร ปี 2017" ภายในงานสัมมนาสภาธุรกิจไทย-จีน "มองหาอนาคต...ยุค 4.0" ว่า ปัจจุบันอาเซียนนับว่าเป็นภูมิภาคที่เป็นดาวเด่นความน่าสนใจดึงดูให้นักลงทุนเข้ามา เพราะมีโอกาสในการเจริญเติบโตที่อยู่ในระดับสูง จากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน ที่ยังมีศักยภาพในการขยายตัว จากการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านโครงการคมนาคม และการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และส่งผลไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างเช่น เมียนมา กัมพูชา และลาว เป็นต้น อีกทั้งการเชื่อมโยงด้านการขนส่งจากอาเซียนไปถึงจีน โดยแนวคิดการร่วมลงทุนในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งใหม่ภายใต้โครงการ One Belt On Road ที่เชื่อมโยงระบบรางและระบบถนนจากประเทศจีนไปถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแกร่งและดึงดูดนักลงทุนเข้ามา โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทางรัฐบาลพยายามผลักดันนำจุดแข็งของเรื่องนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น การทำโครงการถนน 7 เส้นทาง เชื่อมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภายใน 2 ปีนี้จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 2,000 กิโลเมตร รวมไปถึงโครงการลงทุนระบบรางที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน และการปรับปรุงท่าอาศยานในภูมิภาคต่างๆเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว อีกทั้งการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่มีการยกระดับโครงการ Eastern Seaboard ที่เกิดขึ้นไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยโครงการระเบียงเศรษฐกิจจะมีการยกระดับให้พื้นที่อู่ตะเภา แหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด ในภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมต่างๆ ศูนย์กลางการขนส่ง รวมถึงการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในภาคตะวันออกให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสหนึ่งที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงมุนภายในระยะเวลา 5 ปี รวม 1.5 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่รัฐบาลลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือจะมาจากการ PPP

"รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อเสริมศักยภาพให้กับประเทศไทย จากการที่เราเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆทั้งประเทศเพื่อนบ้านติดกับไทย และประเทศอื่นในอาเซียนที่ไม่ติดกับไทย เพื่อเสริมโอกาสของนักลงทุนไทยไนการเติบโตไปพร้อมกับอาเซียน และสร้างความน่าสนใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยจะทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ"นายกอบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ปีข้างหน้า ยังคงมีความผันผวน โดยเฉพาะความผันผวนที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ยังจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวให้กลับมาแข็งแรงอีก 3-4 ปี ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯแม้ว่าจะมีการกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีการสร้างความผันผวนต่างๆเกิดขึ้น อย่างเช่น ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่มาจากการคาดการณ์แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัจจุบันที่นโยบายต่างๆออกมาอาจจมีผลกระทบต่อการค้าในบางประเทศ ซึ่งสร้างความผันผวนเกิดขึ้นให้กับภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยความผันผวนต่างๆที่เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทุกคนจะต้องใช้ความระมัดระวัง และนำมาพิจารณาในการวางแผนต่างๆ เพื่อทำให้การลงทุนไม่เกิดผลกระทบขึ้นในอนาคต

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในหัวข้อ "โลจิสติกส์ไทยยุค 4.0" ภายในงานสัมมนาสภาธุรกิจไทย-จีนว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนได้นั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ การพัฒนาในด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการเดินหน้าประเทศไทยได้ไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มพลัง ในรูปแบบของไทยแลนด์ 4.0 ในเบื้องต้นภาครัฐจะมีการเริ่มการลงทุนโครงการต่างๆ ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนระบบคมนาคมให้สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้เริ่มทยอยลงทุนโครงการต่างๆไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนก่อสร้างถนนสายใหม่ และการลงทุนระบบคมนาคมทางราง อีกทั้งการเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่จะทำให้การเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนของไทยเดินหน้าได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการลงทุนต่างๆของภาครัฐจะเป็นพื้นฐานที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนต่างๆจะมีการลงทุนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ตามมา นอกจากนี้ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่พัฒนาเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานเพียงเท่านั้น ยังจะต้องมีการพัฒนาระบบการขนส่ง ระบบการจัดการการข้อมูลและติดตามข้อมูลแบบอัตโนมัติเข้ามาเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบการวนส่งแบบ Door to Door ระบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การวิเคราะห์ข้อมูลการขนส่ง การเชื่อมระบบอินเตอร์เน็ตเข้ากับทุกสิ่ง การติดตามการขนส่ง โดยอาจจะเป็นการใช้ระบบ RFID มากขึ้น การนำ Cloud Technology มาใช้ และการนำ 3D Printing มาใช้ เพื่อเสริมศักยภาพ ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบจะต้องมีการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์

ทั้งนี้ หากการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยสามารถดำเนินไปได้ประสบความสำเร็จ และเกิดประสิทธิภาพ คาดว่าจะช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยมีโอกาสลดลงต่ำกว่า 14% ในปัจจุบัน หากราคาน้ำมันยังไม่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล เหมือนกับในช่วงก่อนหน้า โดยไนปี 50 ในระดับราคาน้ำมันที่ 100 เหรียญ/บาร์เรล ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ 17.1% โดยการพัฒนาโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยลดลง

อย่างไรก็ตาม มีอีกสิ่งหนึ่งประเทศไทยจะต้องทำให้สำเร็จเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน คือ โครงการ National Single Window ที่จะต้องเปลี่ยนเอกสารต่างๆเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียน เพื่อทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ มีความสะดวกรวดเร็ว และเป็นแบบฟอร์มเดียวกันทั้งภูมิภาค อีกทั้งจะเป็นระบบ Paperless ซึ่งจะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถสะท้อนว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนได้ โดยโครงการ National Single Window ของประเทศคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 64 ตามแผนพัฒนาเศรษฐก์จและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะเป็นสิ่งหนึมงที ทำให้ระบบโลจิสติกส์ของไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคได้อยมางสมบูรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ