รายงานกนง.ระบุการฟื้นตัวของศก.ไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนด้านตปท.อยู่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2017 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ซึ่ง กนง.เห็นควรให้คงอัตราดกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างประเทศที่ยังต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด สำหรับอัตราเงินเฟ้อได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้วและมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวม ยังผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่มากในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ จึงจะติดตามและประเมินความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและพัฒนาการความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยภาคเอกชนจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนสูง

"ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ" รายงาน กนง.ระบุ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในหลายหมวดสินค้า และคาดว่าจะยังคงได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่องไปอีกระยะจากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการย้ายฐานการผลิตสินค้าบางรายการมาที่ประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และคาดว่าจะมีแรงส่งเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระยะข้างหน้า

สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นยังกระจุกตัวอยู่ในบางธุรกิจ อาทิ พลังงานทดแทน โทรคมนาคม และการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่ยังกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวจากภาคการส่งออกไปสู่การจ้างงานและการลงทุน เพื่อประเมินความชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กระจายตัวไปยังภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้นต่อไป

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโน้มสูงขึ้น และได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่จะมีนัยต่อความเชื่อมั่นและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงพัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรปที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความผันผวนในตลาดการเงินในอนาคต และอาจส่งผลสืบเนื่องมายังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาครวมถึงไทยได้

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง ทั้งในสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อครัวเรือน และการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) ของบางบริษัท รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks)

ด้านภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น อัตราการขยาตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากแรงส่งที่เพิ่มขึ้นในบางประเทศ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคธุรกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ด้านเศรษฐกิจเอเชียมีแรงส่งเพิ่มขึ้นบ้างจากการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าเทคโนโลยีที่อาจต่อเนื่องได้นานกว่าคาด

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน โดยแนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าการลงทุนและท่าทีต่อข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีนัยต่อทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่สืบเนื่องจากปัญหาภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาภาคธนาคารในยุโรป คณะกรรมการฯ จึงจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นนโยบายเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านบวกและด้านลบ

ด้านภาวะตลาดการเงินนั้น ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นตั้งแต่การประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยนักลงทุนได้ลดการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินโลกมีการปรับตัว (correction) ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2559 เป็นต้นมา โดยการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์กลับมามีทิศทางอ่อนค่า ทำให้เงินบาทเทียบดอลลาร์โน้มแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค

"ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงมีความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศที่ยังมีอยู่มาก ขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะสามารถดำเนินการได้จริงมากน้อยเพียงใด รวมถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ