รมว.คมนาคม ย้ำกลางปีนี้เปิดใช้ตั๋วร่วม สนข.ดึง BTS-BEM ร่วมถือหุ้น 60%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 23, 2017 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงกลางปีนี้จะสามารถใช้บัตรแมงมุม ซึ่งเป็นระบบตั๋วร่วมได้อย่างแน่นอน แม้จะไม่ครบทุกระบบก็ตาม ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการ 2 ราย คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS )และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มีความพร้อมแล้ว เหลือที่ต้องพูดคุยในรายละเอียดเรื่องวิธีการหักล้างบัญชี ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพิ่มบ้าง

ส่วนรถเมล์นั้นจะมีการติดตั้งระบบทั้งในรถเมล์เก่าและรถเมล์ใหม่ แม้จะไม่มีรถใหม่เข้ามาก็ไม่มีปัญหา ส่วนธนาคารที่มีความสนใจจะเชื่อมต่อระบบกับตั๋วร่วมนั้นรอเพียงมีการใช้และเปิดระบบ ซึ่งเชื่อว่าความสะดวกที่เกิดขึ้นจะเพิ่มฐานลูกค้าของรถไฟฟ้ามากขึ้นอีก

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเห็นด้วยในการหลักการตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อเป็นผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (CTC) ซึ่งจะต้องตั้งก่อนที่จะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมกลางปีนี้ หรือคาดว่าอาจจะตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในเดือน มี.ค.นี้ โดยสัดส่วนการถือหุ้น ฝ่ายรัฐจะถือไม่เกิน 40% โดยผู้ร่วมถือหุ้นได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งมีระบบหักบัญชีอยู่แล้ว

ส่วนอีก 60% จะให้เอกชนผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเข้าร่วม คือ BTS และ BEM ระหว่างนี้กำลังเจรจาการร่วมลงทุน และในอนาคตที่ตั๋วแมงมุมใช้ได้กับระบอื่นเช่น เรือด่วนเจ้าพระยา หรือใช้แทนเงินสด ก็จะมีเอกชนรายอื่นเข้ามาถือหุ้นร่วมด้วย

พร้อมทั้งให้ผู้ประกอบการแต่ละรายกลับไปคิดต้นทุนในส่วนที่จะต้องมีการปรับปรุงระบบ เช่น สายสีเขียว จะมีการเปิดเดินรถสายสีเขียวใต้เพิ่ม จากสถานีแบริ่ง-สำโรง และต่อไปถึงสมุทรปราการ จะต้องลงทุนติดตั้งระบบเพิ่ม ต้องมีตัวเลขออกมาซึ่งจะให้ได้ข้อสรุปในเดือน มี.ค.นี้ โดยจะเป็นการทำงานแบบคู่ขนาน ทั้งเรื่องการตั้งบริษัทร่วมทุนฯ และการปรับระบบของผู้ประกอบการแต่ละราย

สำหรับช่วงแรกนั้น บัตรแมงมุมจะเป็นการเชื่อมเดินทางด้วยบัตรใบเดียว ส่วนบัตรเดิมของแต่ละสาย ทั้งแรบบิท หรือ MTR Plus ยังใช้ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ใช้ข้ามระบบไม่ได้เหมือนบัตรแมงมุม ต่อไปในอนาคต สนข.จะพิจารณาเรื่องอัตราค่าโดยสารร่วม หรือการใช้บัตรแมงมุมเดินทางข้ามระบบ จะไม่มีค่าแรกเข้าในการเข้าระบบครั้งที่ 2

ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีการลงทะเบียน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายขัดเจนจะต้องได้ใช้ตั๋วร่วมบัตรแมงมุมด้วย โดยรัฐจะใส่เงินในบัตรเป็นค่าเดินทาง ตัวเลขเบื้องต้นประมาณ 500-600 บาทต่อเดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ