พาณิชย์ เตือนข้าวไทยตรวจสอบให้แน่ใจเหตุอียูคุมเข้มการใช้สารTricyclazole ในข้าวที่นำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 12, 2017 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ถึงความคืบหน้าผลการหารือกับผู้แทนสมาพันธ์โรงสีข้าวยุโรป (Federation of European Rice Millers: FERM) และผู้แทนสมาพันธ์ผู้ค้าธัญพืชยุโรป (COCERAL) เรื่อง สหภาพยุโรปเปลี่ยนแปลงระดับสารตกค้าง (Maximum Residual Level : MRL) Tricyclazole ในข้าวที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากต่างประเทศ ว่า สหภาพยุโรปจะเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมสาร Tricyclazole ให้มีไม่เกิน 0.01 ม.ก./ก.ก. จากเดิม 1 ม.ก./ก.ก. โดยจะออกประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 และจะมีผลใช้บังคับภายใน 20 วัน หลังจากที่มีประกาศ ซึ่งสาร Tricyclazole นี้ เป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดโรคไหม้ และโรคใบจุดในข้าวอันมีสาเหตุมาจากเชื้อรา ซึ่งหากเกษตรกรใช้อย่างขาดความระมัดระวังจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในคนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับข้าวที่ผลิตในปี 2559 ที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นให้นำเข้าได้ในปริมาณสาร Tricyclazole ที่กำหนดไว้เดิม คือ (1) ข้าวประเภทอื่น ยกเว้นข้าวบาสมาติ ที่มีการเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ระเบียบใหม่จะมีผลใช้บังคับ และ (2) ข้าวบาสมาติ ซึ่งจะได้รับความยืดหยุ่นเพิ่มอีก 6 เดือน เนื่องจากเป็นข้าวที่จะต้องมีการบ่มข้าวก่อนที่จะสามารถจำหน่ายได้

รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะมีการตรวจสอบตามมาตรฐานใหม่ทันที เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวไทยที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปจะไม่มีสารตกค้างเกินกว่าระดับที่กำหนด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้พาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ติดตามความเคลื่อนไหวการออกระเบียบใหม่นี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ในส่วนของประเทศไทยก็ต้องเตรียมการล่วงหน้า เพื่อควบคุมการใช้สารดังกล่าวไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดและปัจจุบันสหภาพยุโรปมักจะออกมาตรการ ใหม่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม แรงงาน ซึ่งประเทศผู้ส่งออกจะต้องติดตามอย่างอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ

อนึ่ง ในปี 2559 ที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าว จำนวน 9.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 154,427 ล้านบาท เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิใน จำนวน 2.383 ล้านตัน มูลค่า 54,184 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 22,700 บาท/ตัน ส่งออกไปประเทศ สหรัฐอเมริกา ไอเวอรี่โคตส์ จีน เซเนกัล ฮ่องกง และกาน่า ในจำนวนนี้เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 15,923 ตัน มูลค่า 716 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 44,200 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปกว่าเท่าตัว

ทั้งนี้ ในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันให้เกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหาสารตกค้างดังกล่าวได้ และในช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 จะจัดคณะผู้แทนการค้าไปขายข้าวที่ฟิลิปปินส์ และจัดกิจกรรมภายในประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในงาน Thailand Rice Convention 2017 และงาน THAIFEX-World of Food Asia 2017 ในระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ